นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหาร โดยได้ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ (Biodiversity and Zero Deforestation)
พร้อมทั้งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ในการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลได้อย่างโปร่งใส เป็นแนวทางปฏิบัติในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศไทย และตั้งแต่ปี 2564 ได้ขยายแนวปฏิบัติใช้ในกิจการต่างประเทศของซีพีเอฟ รวมทั้งในปีนี้ จะจัดอบรมให้กับคู่ค้าเรื่องความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
“ซีพีเอฟ ประกาศความมุ่งมั่นปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน ”
นอกจากนี้ บริษัทฯได้พัฒนาและปฏิบัติตามแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management Plans) ติดตามประสิทธิภาพการตรวจสอบย้อนกลับของคู่ค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า มีการตรวจประเมินคู่ค้าเพื่อตรวจสอบประเมินการดำเนินงานและแนวปฏิบัติในความสามารถตรวจสอบย้อนกลับกับกลุ่มผู้ผลิต รวมไปถึงร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจ เกษตรกร เพื่อยุติการบุกรุกและการทำลายป่า ด้วยกระบวนการจัดซื้ออย่างรับผิดชอบและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่บุกรุกป่า รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น
ภายใต้แผน 2030 CPF Sustainability in Action บริษัทฯ สานต่อโครงการเพื่ออนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ประกอบด้วย โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ฟื้นฟูป่า ต้นน้ำในพื้นที่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ. ลพบุรี พื้นที่ดำเนินการ 6,971 ไร่ ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง( ปี 2564-2568) และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดระยอง ชุมพร สมุทรสาคร สงขลา และพังงา ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้ประเทศไทย 2,388 ไร่ ในการดำเนินงานระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561)
โดยปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง(ปี 2562-2566)ของโครงการฯ มีเป้าหมาย อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ป่าชายเลน ในจังหวัดระยอง สมุทรสาคร และตราด พื้นที่ดำเนินการรวม 14,000 ไร่ โดยทั้งสองโครงการฯ ส่งผลกระทบเชิงบวกทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทรัพยากรป่าไม้เป็นต้นทางวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตอาหาร ในโอกาสวันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ควบคู่ไปกับจับมือคู่ค้าธุรกิจต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน