นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นบริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ที่ดำเนินงานทั้งการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปจากผลผลิตเกษตรในชุมชน
โดยมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ด้วยการใช้แนวทางบริหารตามศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน
“การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ฝางในระบบวนเกษตรเป็นวัตถุดิบในภาคตะวันออก เพื่อส่งแก่นฝางให้กับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยไม่เบียดเบียนป่าธรรมชาติ แต่จะเป็นวิธีในการสร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน
โดยแก่นฝางในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ดอยคำจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เป็นน้ำสมุนไพรโดยหวังว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับทุกคน ในปี พ.ศ.2565 นี้เป็นต้นไป”
นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เปิดเผยว่า ดอยคำพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับ น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม ได้แก่ น้ำชาเขียว รสต้นตำรับ น้ำตะไคร้ผสมขิงและใบเตย น้ำมะขามผสมน้ำผึ้ง น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวยและคาโมไมล์ น้ำเจียวกู้หลานและดอกคำฝอย น้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้ง รวมถึงเครื่องดื่มเข้มข้น เช่น เครื่องดื่มกระชายสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มเห็ดหลินจือสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มตรีผลาสกัดเข้มข้น และผลิตภัณฑ์ใหม่ สารสกัดฟ้าทะลายโจร
“สำหรับแก่นฝาง ดอยคำได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์โดยใช้แก่นฝางเป็นวัตถุดิบ โดยเล็งเห็นว่าแก่นฝางมีสารสำคัญ จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี พบว่ามีสารสำคัญ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ และยังเป็นการสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมอีกด้วย”
“ฝาง” เป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตในทุกสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศในประเทศไทย สามารถปลูกร่วมกับไม้ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่มีปัญหาในระบบนิเวศ เป็นต้นไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก โดยเฉพาะประชาชนผู้ประสบปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากช้างป่าไม่กินและไม่ทำลาย สามารแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค (ข้อมูลจาก หนังสือประชาสัมพันธ์การจัดการความรู้ เรื่องไม้ฝาง พันธุ์ไม้ที่ช้างไม่ชอบและไม่ทำลาย : กรมป่าไม้และสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว)
สำหรับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ จัดตั้งขึ้นมาจากมติของประชาชนผู้ที่ประสบภัยช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออก ด้วยการสนับสนุนและผลักดันโดยสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว กรมป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนที่ประสบปัญหาช้างบุกรุกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยการสร้างป่าในรูปแบบวนเกษตร ป่าครอบครัว ซึ่งพืชที่ปลูกเป็นชนิดที่ช้างป่าไม่กิน ร้อยละ 90.0 ของพื้นที่ และปลูกพืชที่ช้างป่ากิน ร้อยละ 10.0 ของพื้นที่
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ มีแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชในระบบวนเกษตรป่าครอบครัว เกษตรทฤษฎีแนวใหม่ เกษตรกรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขายกล้าไม้ฝาง พืชสมุนไพร และการค้าไม้ท่อนไม้ซุงไม้แปรรูป มาแปรรูปเชิงพาณิชย์เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ และดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาไม้ฝางอื่นๆ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค