สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)หรือ CAAT ชี้แจงสัญญาณ 5G ในไทยไม่กระทบการบิน ยืนยันปลอดภัยใช้ช่วงคลื่นห่างกัน โดยระบุว่า
สืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ปรากฏว่าหลายสายการบินในสหรัฐอเมริกา ออกเตือนการเปิดใช้สัญญาณ 5G ย่านความถี่ C-Band ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเครื่องบิน โดยเฉพาะขณะที่กำลังจะลงจอด ทำให้เกิดข้อกังวลสำหรับประเทศไทยว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากสัญญาณ 5G เช่นเดียวกันหรือไม่
CAAT ขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ดังนี้
ผลกระทบจากสัญญาณ 5G ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบปฏิบัติการบินของเครื่องบิน เกิดจากสัญญาณ 5G อาจไปรบกวนการทำงานของระบบอุปกรณ์ที่สำคัญและมีความอ่อนไหวสูง โดยเฉพาะเครื่องวัดความสูงด้วยคลื่นวิทยุของอากาศยาน (Radio Altimeter) ซึ่งจะแสดงผลในห้องนักบินให้ทราบระดับความสูงเหนือพื้นดินในขณะนั้น ทำให้อาจไม่ได้รับข้อมูลความสูงที่ถูกต้องและอาจก่อให้เกิดอันตรายระหว่างเตรียมลงจอดสู่สนามบิน ซึ่ง Radio Altimeter นี้เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้งานคลื่นความถี่ในย่าน 4,200 – 4,400 MHz (4.2 – 4.4 GHz)
ประเด็นปัญหาที่เกิดกับสหรัฐ แต่ยังไม่มีรายงานปัญหาในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากสัญญาณ 5G แบบใหม่ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในสหรัฐเตรียมเปิดใช้งาน ใกล้เคียงกับย่านความถี่ของอุปกรณ์ Radio Altimeter จนอาจเกิดการรบกวนกัน เพราะ 5G ใช้ย่านความถี่ 3.7 – 3.98 GHz ขณะที่ Radio Altimeter ใช้ย่านความถี่ 4.2 – 4.4 GHz
แต่ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลียและญี่ปุ่นที่ยังไม่พบปัญหาในลักษณะนี้เพราะมีมาตรการ เช่น การจัดสรรย่านความถี่เครือข่ายกับความถี่ด้านการบินให้ห่างกัน 100 หรือ 200 MHz นอกจากนี้สถานีฐานของระบบ 5G ต้องลดการแพร่สัญญาณเข้าไปในย่านความถี่ด้านการบิน และต้องตั้งอยู่ห่างจากแนวการขึ้น-ลงของอากาศยานไม่ต่ำกว่า 200 เมตร
สำหรับประเทศไทย ใช้ 5G ในย่านความถี่ 2.6 GHz ซึ่งถือว่ามีช่วงห่างจากย่านความถี่ของ Radio Altimeter (4.2 – 4.4 GHz) ค่อนข้างมากในระดับปลอดภัยจากการรบกวน อีกทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้เตรียมพร้อมประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนสายการบินเป็นระยะตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา หลังจากได้รับทราบข้อมูลและการแจ้งเตือนจาก FAA และ ICAO
ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าเกิดการรบกวนของสัญญาณ 5G ที่ใช้งานในประเทศไทยต่อระบบปฏิบัติการบินแต่อย่างใด แต่ยังถือเป็นประเด็นที่ CAAT ยังต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด