ฟิวเจอร์ ฟู้ด 9.1 หมื่นล้าน โตแรง เกาะเมกะเทรนด์โลก

20 ม.ค. 2565 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 13:43 น.

ชี้ตลาดฟิวเจอร์ ฟู้ด 9.1 หมื่นล้านบาทโตแรงตามเมกะเทรนด์โลก จับตากลุ่มอาหารจากแมลง-พืชฮอทสุด หลังกลุ่มทุนใหญ่-เล็กแห่รุกขณะที่ “โควิด” ดันอาหารจากแมลง อาหารอินทรีย์ โตก้าวกระโดดใน 3-5 ปี แนะภาครัฐสร้างอีโคซิสเต็มหนุนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเข้าสู่วงจร

โครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ บวกกับแนวโน้มประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นจาก 7พันล้านคน เป็น 8-9 พันล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ทั่วโลกมองหารูปแบบอาหารที่สามารถตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคต ส่งผลให้ “Future food” หรืออาหารแห่งอนาคต กลายเป็นกะแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก

 

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่าย กระทรวงอุตสาหกรรม (NFI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในตลาดโลกรวมถึงประเทศไทย แบ่ง Future food ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตามการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร กระแสด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 1. อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) 2. อาหารอินทรีย์ (Organic food) 3. อาหารทางการแพทย์ (Medical food) และ 4. อาหารใหม่ (Novel food)

อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์

สำหรับภาพรวมของตลาดฟิวเจอร์ ฟู้ดของไทยซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท มีการเติบโตเป็นไปทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก โดยกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพมีมูลค่าตลาด 6.4 หมื่นล้านบาท การเติบโตทรงตัวจากปีก่อน กลุ่มอาหารอินทรีย์ มูลค่าตลาด 560 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 10% กลุ่มอาหารทางการแพทย์ มีมูลค่าตลาด 2,850 ล้านบาท การเติบโตทรงตัว ส่วนอาหารจากพืชมีมูลค่าตลาด 2.4 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 20%

 

สินค้าหลักยังคงเป็นอาหารพื้นฐานที่มาจากอาหารเจ มังสวิรัติ ส่วนอาหารจากพืชที่มาจากการนำเข้าและเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศแม้มีปริมาณยังไม่มากนักแต่มีอัตราเติบโตสูงจากผู้ผลิตรายใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อเทียมที่เปิดตลาดอย่างจริงจัง ขณะที่อาหารจากแมลง มูลค่า 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากการส่งออกแมลงราว 500-600 ตันต่อปี ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ เช่น แช่แข็ง แป้ง ส่วนการแปรรูปจะอยู่ในรูปแมลงกระป๋อง

ฟิวเจอร์ ฟู้ด

“ถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คาดว่า ฟิวเจอร์ฟู้ดในปี 2565 รวมถึงในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวมากขึ้น โดยกลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวสูงที่สุดคือ อาหารจากแมลง 25-30% รองลงมาเป็นอาหารอินทรีย์ และอาหารจากพืช (Plant-based food) คาดว่าจะขยายตัวได้ 15-20% ส่วนอาหารเสริมสุขภาพ และอาหารทางการแพทย์น่าจะขยายตัวได้ 5-10% เท่านั้น”

 

สำหรับอนาคตของฟิวเจอร์ ฟู้ดในไทย ภาครัฐจะต้องสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะสมให้กับภาคธุรกิจได้ประกอบการและ SMEs ก็ควรจะได้รับงบสนับสนุนให้แจ้งเกิดได้เร็วขึ้นในสภาพการณ์แบบนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเติบโตด้วยตัวเอง สำหรับภาคเกษตรกรหรือร้านอาหารก็อาจจะต้องให้โอกาสเข้ามาสู่วงจรของการผลิตได้ ส่วนแบรนด์ใหญ่ไม่น่าห่วงเพราะมีซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับและมีทางเดินของตัวเอง ซึ่งอาจมีการรวมมือกับสตาร์ทอัพในการแชร์โนฮาวด์ต่างๆ และผลิตในสเกลใหญ่วางจำหน่ายทั่วไป ส่วนสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรายเล็กส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาช่องทางจำหน่ายของตัวเองเช่นช่องทางออนไลน์

 

ในส่วนของสถาบันอาหาร สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Trust(Food Safety & Quality) ผ่านการบริการด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ และบริการวิศวกรรมอาหาร Value (Innovation & Technology) ผ่านบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี Power (Human Resource Development & Training) ผ่านบริการด้านพัฒนาทักษะแรงงานและเสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากร และ Speed Solutions(Business & Marketing) ผ่านบริการด้านสนับสนุนธุรกิจและการตลาด

ฟิวเจอร์ ฟู้ด

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจ Future food แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มอาหารเสริมสุขภาพ กลุ่มอาหารอินทรีย์ อาหารจากพืช และกลุ่มอาหารจากแมลง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ ส่งผลให้มูลค่าตลาดฟิวเจอร์ ฟู้ดโลกมีการขยับตัว

 

โดยกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพ มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,092 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 6% ,กลุ่มอาหารอินทรีย์ (Organic food) มูลค่าตลาดอยู่ที่ 182 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14 % , กลุ่มอาหารทางการแพทย์ มีมูลค่าตลาด 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิด-19 เพราะผู้คนรักษาสุขภาพมากขึ้น ป่วยด้วยโรคทั่วไปลดลง ตลาดจึงขยายตัวต่ำเพียง 5% และกลุ่มอาหารใหม่ (Novel food) มีมูลค่าตลาด 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12%

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,749 วันที่ 16 - 19 มกราคม พ.ศ. 2565