‘บีแลนด์’ปรับแผนลงทุนขยาย‘อิมแพ็ค’รับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู

09 ก.พ. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 16:01 น.

แม้โควิดจะส่งกระทบต่อธุรกิจไมซ์ร่วม 2 ปีแล้ว แต่บีแลนด์ยังพร้อมพัฒนาพื้นที่ 500 ไร่ในอิมแพ็ค เมืองทองธานี รองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่พร้อมจะลงทุนทันทีหลังโควิดคลี่คลาย แต่รูปแบบการลงทุนปรับเปลี่ยนไปจากสร้างทัวริสต์ เดสติเนชั่น มาโฟกัสด้านไมซ์เป็นหลัก

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)หรือ บีแลนด์ ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจของอิมแพ็คต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาถือว่าตกต่ำสุดในรอบ 23 ปี  มีงานอยู่เพียง 296 งาน ลดลงปี63 กว่า54% มีรายได้ราว 400 กว่าล้านบาท และหากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ถือว่าลดลงไปมากจากปกติจะมีการจัดงานราว 1,107 งานสร้างรายได้จากการจัดงานอยู่ที่ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี

 

พอลล์ กาญจนพาสน์

 

ปีที่ผ่านมาจะเป็นครั้งแรกที่เราดำเนินธุรกิจติดลบ เพราะเมื่อต้นปีเราปิดไปแป็ปนึงช่วงโควิดระบาด ก็กลับมาเปิดได้ในเดือนเม.ย. พอมาเจอระลอกใหม่ ก็ปิดยาวไปถึงเดือนต.ค. และเราใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือภาครัฐและเราก็ไม่ได้กำไรจากส่วนนี้เลย และเพิ่งกลับมาจัดงานอีกครั้งได้ในเดือนพ.ย.  หลังจากเราทำบิ๊กคลีนนิ่งเสร็จและสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ

ในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อิมแพ็คมียอดจองพื้นที่จัดงานแล้วในปีนี้แล้วรวม 304 งาน (อัพเดท ณ เดือนก.พ.65) ถือว่ามากกว่าการจัดงานทั้งปี2564 โดยในครึ่งปีแรก การจัดงานจะยังคงเป็นงานอีเว้นท์ในพื้นที่  ส่วนการจัดงานที่มาจากต่างประเทศยังไม่มี เนื่องจากแม้ไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะ Test & Go แล้ว แต่เวลาชาวต่างชาติเดินทางกลับประเทศบางประเทศก็ยังมีเรื่องการกักตัวอยู่

 

‘บีแลนด์’ปรับแผนลงทุนขยาย‘อิมแพ็ค’รับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ดังนั้นการจัดงานระดับอินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์ จึงยังคงต้องรอลุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะบางงานที่มีต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยก็เช่น งาน Unicity Global ที่มีผู้ร่วมงานเกือบ 1 หมื่นคน ซึ่งปกติการจัดงานที่มีต่างชาติจะอยู่ที่ราว 25-30%ของการจัดงานทั้งหมดต่อปี

 

สำหรับยอดการจองพื้นที่ในปีนี้ ก็ต้องยอมรับว่าด้วยความที่กลุ่มเอสเอ็มอี ล้มหายไปจากธุรกิจมาก ก็จะกระทบต่อการใช้พื้นที่การจัดงานที่น้อยลง ประกอบกับบาง อย่างทุกปีเคยใช้พื้นที่ 6 หมื่นตรม.ก็ลดลงเหลือ 4 หมื่นตรม. แต่ก็มีงานที่ขอขยายพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างงานไทยเฟค,งานไทยแลนด์ คอฟฟี่ หรือบางงานก็ใช้พื้นที่เท่าเดิม อย่าง มอเตอร์ เอ็กซ์โป ,มันนี่ เอ็กซ์โป นอกจากนี้ยังมีการจัดแข่งแบตมินตั้น Thomas-Uber Cup ที่รูปแบบการจัดงานก็คงต้องรอดูสถานการณ์โควิดก่อนว่าจะจัดแบบปิด หรือ จัดแบบเว้นระยะห่าง หรือจัดแบบปกติ

 

‘บีแลนด์’ปรับแผนลงทุนขยาย‘อิมแพ็ค’รับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู

“ผมมองว่ากว่าการใช้พื้นที่ในการจัดงาน จะกลับมาใกล้เคียงปกติหรือใกล้เคียงปี2562 น่าจะเป็นปี2566 โดยคาดว่ายอดการจัดงานน่าจะกลับมาได้อยู่ที่ 70% รวมทั้งเรายังต้องรอดูว่าการจัดงานคอนเสิร์ต รัฐบาลจะอนุญาตให้มีการจัดงานในปีนี้ได้เมื่อไหร่ ซึ่งการจัดงานต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ถ้าจัดไม่ได้เราก็จะไม่ได้ริบเงินมัดจำ แต่จะขอให้เขาเลื่อนเวลาจัดงานให้เป็นไปตามความเหมาะสมมากกว่า และอิมแพ็คก็ยังอยู่ระหว่างการเสนอตัวการเป็นสถานที่จัดงานประชุมเอเปคในปีนี้ด้วย  โดยนอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องพื้นที่แล้ว เรายังมีการรักษาความปลอดภัยที่ทำได้ และเคยจัดงานมาแล้วอย่างการจัดงานอาเซียนซัมมิท”

 

ส่วนการเปิดให้บริการของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ลูกค้าบางรายก็อาจจะไปลองใช้บริการ แต่งานทางด้านเหนือก็น่าจะใช้ที่อิมแพ็ค และกว่า 70% เป็นลูกค้าเก่า ที่มีการจัดอีเว้นท์ที่นี่ประจำอยู่แล้ว และในช่วงที่ผ่านมาแม้จะเกิดโควิด แต่เราก็พัฒนาบริการใหม่ตามเทรนด์ อาทิ การจัดออนไลน์บิสิเนส แมชชิ่ง การประชุมออนไลน์ให้ลูกค้า ซึ่งก็การดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ แต่หากโควิดคลี่คลายการจัดงานไมซ์แบบออนกราวด์ก็จะยังคงมีฟีตแบคที่ดีเหมือนเดิม และแม้จะมีเรื่องของเมตาเวิร์ส แต่ความต้องการพื้นฐานการพบการขายสินค้าก็ยังต้องการเจอหน้ากันอยู่

 

อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

สำหรับการขยายการลงทุนของบีแลนด์ จะมีการสร้างโครงการเรสสิเดนท์ ชื่อว่า Mori  ขนาด 800 ห้องคาดว่าจะแล้วเสร็จปีหน้า และอยู่ระหว่างการสร้างโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอโนท ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2565  รวมไปถึงแผนพัฒนาพื้นที่ 500 ไร่ เฉพาะพื้นที่ที่พัฒนาได้ 300 ไร่ ในเมืองทองธานีเพื่อรองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะมีสถานีเข้ามานั้น จากโควิดที่เกิดขึ้นทำให้เรามีทิศทางการลงทุนใหม่ จากเดิมที่เราจะพัฒนาโครงการที่เป็นทัวร์ริสต์ เดสติเนชั่น เช่น สวนน้ำ ,มารีน่า แต่ปัจจุบันเรามองว่าการลงทุนจะเน้นรองรับไมซ์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอิมแพ็คเป็นหลักเท่านั้น

 

การลงทุนที่เราจะทำจึงจะคงไว้เฉพาะการเพิ่มพื้นที่เอ็กซิบิชั่นอีก 2 แสนตารางเมตร ลงทุนราว 6 พันล้านบาท  รวมไปถึงรีเทล  อาคารสำนักงาน โรงแรม ซึ่งจะลงทุนทันทีหากเห็นว่าโควิดคลี่คลาย และตลาดไมซ์เริ่มกลับมา โดยจะรอดูสถานการณ์ในช่วงกลางปีนี้ จึงจะบอกไว้ว่าจะเริ่มลงทุนในช่วงใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งการสร้างเอ็กซิบิชั่นใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือน ถ้าเราเห็นว่าโควิดใกล้จบก็จะเริ่มสร้างทันทีเพื่อให้พร้อมเปิดได้ในเวลาที่ธุรกิจฟื้นตัวพอดี

 

ขณะที่การขยายธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 29 แห่ง รวม 13 แบรนด์ ทั้งในพื้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และภายนอกนั้น ก็จะเปิดเพิ่มร้านอาหารจีน เฮยยิน ที่เกษร วิลเลจ เพิ่มจากเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งเปิดร้านกาแฟเดอะ คอฟฟี่ อาคาเดมิคส์ (TCA) เพิ่มที่เมกาบางนา

 

รวมทั้งเตรียมแผนเสนอรับบริหารอาคารหอประชุมกองทัพบกแห่งใหม่ ถนนพระราม 9 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดย อิมแพ็ค ในฐานะผู้บริหารศูนย์ฯ ที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน หากกองทัพบกให้โอกาสและข้อตกลงที่ดี อาจจะได้เห็นอิมแพ็คบริหารงานให้กับทางราชการ ซึ่งเราเคยรับบริหารพื้นที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก มาก่อนหน้านี้