แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงมีความผันผวน ประกอบกับวิฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่กลายเป็นมรสุมลูกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ต้องปรับคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจใหม่ จากที่คาดว่าจะฟื้นกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดได้ในปี2567 เลื่อนออกไปเป็นปี2568 แต่ท่ามกลางวิกฤตนี้ เซ็นทารา ก็ยังคงเดินหน้าขยายโรงแรมต่อเนื่อง
"ธุรกิจโรงแรมเป็นการลงทุนระยะยาว ประกอบกับการท่องเที่ยวยังไงก็ฟื้นกลับคืนเหมือนก่อนเกิดโควิดแน่นอน แม้จะต้องรอถึงปี2568 เราจึงเห็นการลงทุนธุรกิจโรงแรมก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง วันนี้จะเห็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มรีเทล ทั้งของไทยและต่างชาติ หันมาลงทุนโรงแรมเพิ่มขึ้น ในส่วนของเซ็นทาราเอง ก็ยังคงมีเป้าหมายในการขยายโรงแรมและรีสอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น200แห่ง มีจำนวนห้องพักราว38,000ห้องในอีก5 ปีข้างหน้านี้" นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าว
นั่นหมายถึงในช่วงปี2565-2569 เซ็นทารา จะต้องเพิ่มจำนวนโรงแรมใหม่ขึ้นอีก 100 แห่ง หรือเฉลี่ยปีละ20แห่ง รวมห้องพักกว่า 2 หมื่นห้อง จากปัจจุบันที่เซ็นทารา มีโรงแรมทั้งหมด 88 แห่ง จำนวน 18,225 ห้อง เปิดให้บริการแล้ว47แห่ง จำนวน9,481 ห้อง และอยู่ระหว่างพัฒนา 41แห่ง รวม 8,744ห้อง ซึ่งจะทำให้จะสัดส่วนจำนวนของโรงแรมในไทยและต่างประเทศอยู่ที่จำนวนใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ในจำนวน100 โรงแรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแผน 5 ปี จะมีทั้งโรงแรมที่เซ็นทาราลงทุนเอง และการรับบริหาร โดยแบ่งสัดส่วนโรงแรมในไทยราว50% และในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน40-50%
การขยายโรงแรมในต่างประเทศ เซ็นทารามุ่งเน้นไปตลาดในจีน กลุ่มประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนาม ก็ตั้งเป้าไว้ราว20แห่ง มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดิอาระเบีย ที่ห่างหายไปกว่า30ปี เราก็มองการขยายการรับบริหารเข้าไปในตลาดเหล่านี้ พร้อมทั้งมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดยุโรปเช่นกัน โดยจะจับมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตไปด้วยกัน
ส่วนในแผน 5 ปีนี้ เซ็นทารา จะมีโรงแรมที่เราเป็น “เจ้าของ” และจะใช้เวลาพัฒนาระหว่าง ปี2565-2569 ที่ได้รับการยืนยันแล้ว คือ โอซาก้า ที่เซ็นทาราร่วมลงทุน การลงทุนสร้างโรงแรมเพิ่มอีก3แห่งในมัลดีฟส์ เขาเต่า (หัวหิน) ชะอำ และเกาะลันตา รวมถึงการรีโนเวทโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์กระบี่ ให้เป็นแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ และการปรับปรุงโรงแรมที่หาดกะรนด้วย ซึ่งการปรับปรุงโรงแรมทั้ง2แห่งใช้งบราว1,500ล้านบาท รวมถึงเราตั้งเป้าจะเปิดโรงแรมภายใต้แบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ ให้ได้ทั้งหมด 9 แห่ง ภายในปี 2569
การลงทุนขณะนี้เราตั้งงบลงทุนไว้3ปี โดยในปี2565 (3,400ล้านบาท) ปี 2566 (3,400ล้านบาท) ปี 2567 (3,600ล้านบาท) ซึ่งเซ็นทาราเน้นการบริหารสภาพคล่องได้ดี โดยมีสำรองไว้ล่วงหน้า 12 เดือน และการลงทุนต่างๆที่เกิดขึ้นเรามองผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่7-10%
นอกจากนั้น เซ็นทารายังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Wellness segment) ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ขั้นตอนการพูดคุยกับกลุ่มบริษัทจากยุโรป สำหรับการเปิดโรงแรมด้าน Wellness ด้วย
สำหรับในปี 2565 เซ็นทารา จะเปิดโรงแรมและรีสอร์ท 10 แห่ง (จำนวน 1,066 ห้องพัก) ซึ่ง 8 แห่ง ที่ได้รับการยืนยันแล้ว ประกอบด้วย 3 แห่ง ในไทย คือ เซ็นทารา โคราช , เซ็นทรา บาย เซ็นทารา บางกอก พระนคร , และเซ็นทารา อุบลราชธานี ทั้งจะมีอีก 1 แห่ง ในกาตาร์ คือ โรงแรมเดอะ บี พรีเมียร์ เซ็นทารา บูติก คอลเลกชัน 1 แห่ง ในเมียนมาร์ คือ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ติริ พะอัน 1 แห่ง ในโอมาน คือ โรงแรมอามูอาจช์ อัล เฮล แมนเนจ บาย เซ็นทารา อีก 2 แห่ง ในลาว คือ โรงแรมทวีสุข ไอส์แลนด์ และโรงแรมทวีสุข ริเวอร์ไซด์
ส่วนในปี2566 ก็จะเปิดโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ในเดือนมิถุนายน ปี 2566 ใช้งบลงทุน 5,049 ล้านเยน จำนวน 515 ห้องพัก เปิดโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หลวงพระบาง ลาว เซ็นทารา อยุธยา เซ็นทารา พลูเมเรีย รีสอร์ท ปักเซ ลาว เซ็นทารา หลวงพระบาง ลาว เซ็นทารา เรสซิเดนส์แอนด์สวีท คัมรานห์ เวียดนาม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา สุราษฎร์ธานี เซ็นทรา บาย เซ็นทารา หลวงพระบาง ลาว โรงแรมโคซี่ ภูเย็น เวียดนาม โคซี เวียงจันทร์ นัมพู ลาว
ในแง่ของการตั้งเป้าหมายรายได้ในปีนี้คาดว่านะมีรายได้ในส่วนของโรงแรมราว5,900ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักจะมาจากโรงแรมที่มัลดีฟส์ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว2แห่ง คิดเป็นสัดส่วน22%จากโรงแรมที่ดูไบ20%ที่เหลือเป็นรายได้จากโรงแรมในไทย ซึ่งกว่า80%เป็นรายได้จากไทยเที่ยวไทย มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว40-50% มีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700 – 1,900 บาท และมีราคาค่าห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 4,100-4,200 บาท
ในปี 2565 แม้ธุรกิจโรงแรมโดยรวมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คาดว่า ผลกระทบที่ได้รับจะลดลงกว่าในปี 2564 เนื่องจากปัจจัยการได้รับวัคซีน, การปรับตัวตามวิถีชีวิตใหม่ และมาตรการของรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ส่วนผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียนั้นคือหนึ่งในตลาดที่สำคัญของประเทศไทย แต่ ณ ขณะนี้ได้ผ่านช่วงเวลาที่เป็นฤดูท่องเที่ยวของชาวรัสเซียไปแล้ว
แต่สิ่งที่น่าจับตาคือการที่ค่าเงินของรัสเซียอ่อนกำลังลงนั้น อาจส่งผลให้การตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศของชาวรัสเซียยากขึ้นสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวใหม่ที่จะตามมา ส่วนการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตของนักท่องเที่ยวรัสเซียทางโรงแรมไม่มีปัญหาเพราะมีการชำระค่าห้องมาล่วงหน้าหมดแล้ว ต่างจากที่ภูเก็ตที่พบปัญหาเรื่องนี้
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจของเรานั้นอาจจะได้รับผลกระทบ หากเส้นทางการบินระยะไกลจากเอเชียหรือมายังเอเชียนั้นถูกยกเลิกหรือปรับเปลี่ยน เพราะนั่นแปลว่า ค่าเดินทางจะสูงขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการเดินทางมาจากทวีปยุโรป เรายังคงจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังต้องมุ่งเป้าไปที่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้เริ่มทยอยเปิดประเทศแล้ว รวมถึงอินเดีย ที่ไทยเพิ่งเปิดเจรจา travel buble และจีนที่คาดว่าน่าจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาส3ของปีนี้