ช้าง ไฮเนเก้น เครื่องดื่มชูกำลัง จูงมือขึ้นราคา ผู้ใช้แรงงานปาดเหงื่อ

12 มี.ค. 2565 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 17:17 น.

เบียร์ช้าง ไฮเนเก้น เครื่องดื่มชูกำลัง จูงมือขึ้นราคา ไฮเนเก้นขึ้น 3-4 บาท เชียร์ขึ้น 2 บาท เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ดังขึ้น 2 บาท ผู้ใช้แรงงานปาดเหงื่อ ค่าแรงเท่าเดิม ค่าใช้จ่ายบาน

หลังกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทยอยปรับขึ้นราคาต่อเนื่อง 2-3 ระลอกในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสุราขาวรวงข้าว” 40 ดีกรีที่ปรับราคาขึ้นเป็น 130 บาท จากเดิม 120 บาท ส่วนขวดเล็ก ปรับราคาขึ้นเป็น 70 บาท จากเดิม 60 บาท

 

ส่วนเบียร์ช้าง ปรับขึ้นราคาเป็น 605 บาทต่อลัง (12 ขวด) จากเดิม 585 บาท ราคาขายปลีกเป็น 58 บาทต่อขวด จากเดิม 55 บาท ขณะที่เบียร์ลีโอ ปรับขึ้นราคาเป็น 633 บาทต่อลัง (12 ขวด) จากเดิม 608 บาท ราคาขายปลีกเป็น 61 บาท จากเดิม 58 บาท และเบียร์สิงห์ ปรับขึ้นราคาเป็น 223 บาท (แพ็ค 6 กระป๋อง) จากเดิม 199 บาท ราคาขายปลีกเป็น 38 บาทจากเดิม33 บาท

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่สุราสี ยังไม่มีการปรับขึ้น แต่เป็น “โซดา” ที่ปรับขึ้นราคา 10-20 บาทต่อลัง (24 ขวด)

 

เจ้าของร้านค้าส่งรายใหญ่ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ยังบอกอีกว่า นมข้นหวาน นมยูเอชที น้ำมันปาล์ม ปรับขึ้นราคากันหมดแล้ว โดยนมข้นหวานขึ้นกระป๋องละ 2-3 บาท หากร้านโชห่วยซื้อไปขายต่อ อาจะต้องปรับขึ้น 3-4 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่นมยูเอชที ปรับราคาขึ้นเป็น 58 บาท (แพค 6 กล่อง) จากเดิม 53 บาท  ร้านโชห่วยอาจขาย 62-65 บาทต่อแพค หรือกล่องละ 12 บาท  

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

น้ำมันปาล์ม ปรับราคาขึ้นเป็น 68 บาท จากเดิม 63 บาท ร้านโชห่วยอาจขายในราคา 70-72 บาทต่อขวด ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งมาม่า-ไวไว และอื่นๆ ปรับราคาขึ้นหมดแล้ว ทำให้ร้านโชห่วยต้องปรับราคาขึ้นด้วย บางร้านอาจปรับขึ้น 50 สตางค์ หรือ 1 บาทก็มี

 

ล่าสุดยังพบว่า เบียร์ยังมีการปรับขึ้นราคาไม่หยุด โดยพบว่า “ไฮเนเก้น”  กระป๋องขนาด 490 มล. ปรับราคาขึ้นเป็น  65 บาท จากเดิม 62 บาท ขณะที่ขวดแก้ว 620 มล. ปรับราคาขึ้นเป็น 76 บาท จากเดิม 72 บาท "เบียร์เชียร์" ปรับราคาขึ้นเป็น 56 บาท จากเดิม 54 บาท

 

นอกจากนี้เครื่องดื่มชูกำลัง เกือบทุกยี่ห้อ ปรับราคาขึ้น 30-40 บาทต่อลัง ส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้น อาทิ M150 ปรับขึ้นราคาเป็น 12 บาทต่อขวด จากเดิม 10 บาทต่อขวด ส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ใช้แรงงานในระดับล่างที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าแรงต่างๆ ยังได้รับเท่าเดิม

 

“เราเข้าใจ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้นทุนขึ้น ผู้ผลิตเองก็แจ้งว่าต้นทุนขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง เมื่อเรารับมาแพง  เราก็ต้องขายตามราคาที่ปรับขึ้น ส่วนร้านค้าอื่นจะขายเท่าไร ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน"