เปิด 4 New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

21 มี.ค. 2565 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2565 | 16:28 น.

CRG เปิดเกมบุกตลาดร้านอาหารมูลค่า แสนล้าน ยุทธศาสตร์ “GREATER WE: ซีอาร์จีจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” ผ่าน 4 S-Curve ใหม่ ขยายสาขา-โมเดลร้านใหม่-ขยายเดลิเวรี่และลงทุน M&A,Joint Venture เชื่อสร้างรายได้เข้ากระเป๋า 12,100 ล้านบาท

ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น จากปัจจัยผู้บริโภคมีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน รับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เห็นการฟื้นตัวโตประมาณ 10% จากปี 2564 ตลาดมูลค่ามากกว่า 300,000ล้านบาท ติดลบมากกว่า 10% สัญญาณบวกธุรกิจร้านอาหารกลับมาเติบโตอีกครั้ง สิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจร้านอาหารจะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติ เช่น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ ๆ จะเกิดเพิ่มขึ้น

เปิด 4  New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

โดยตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะพลิกกลับเติบโตและมีสีสัน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของผู้ให้บริการรายใหญ่ซึ่งถูกชะลอมาจากปี 2563 และการเร่งขยายพอร์ตอาหารให้ครอบคลุมประเภทอาหารมากยิ่งขึ้น 

เพื่อสอดรับสถานการณ์ร้านอาหารที่ส่งสัญญาณบวกอย่างต่อเนื่อง   “ซีอาร์จี” เตรียมขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารปี 2565 โดยวางยุทธศาสตร์ “GREATER WE: ซีอาร์จีจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” ผ่าน S-Curve ใหม่ ทั้งการเปิดร้านใหม่มากกว่า 200 สาขา พร้อมโมเดลร้านรูปแบบใหม่ปักธงปั๊มน้ำมัน เปิดร้าน Stand Alone คอนเทนเนอร์ สโตร์ ลุยแฟรนไชส์ เพิ่มสปีดธุรกิจ รุกหนักเดลิเวอรี่ ออนไลน์ รับ New Normal เปิดกว้างรับพันธมิตร สร้าง Win-Win Strategy 

เปิด 4  New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทคาดการณ์รายได้ปี 2565 ไว้กว่า 12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% จากปี 2564 มีรายได้ 9,370 ล้านบาท มั่นใจไตรมาสแรกเติบโต 13-15% 

 

 

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 บริษัทวางยุทธศาสตร์เชิงรุก “GREATER WE: ซีอาร์จี จะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” โดยตั้งเป้าพัฒนาการเติบโตธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบ “New S Curve” ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่  

1. การขยายสาขาและสร้างecosystem รองรับการเติบโต 

สำหรับการขยายร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มเติม จะเป็นขยายเพื่อรองรับความต้องการและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มออกมาทำงานใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น บริษัทจึงมีแผนที่จะปูพรมขยายสาขาร้านอาหาร ในทำเลศักยภาพใหม่ ๆ ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 200 สาขา โดยโฟกัสทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้าต่างๆ (Mall) และทำเลนอกห้าง ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน (Non-Mall) ควบคู่กันไป พร้อมกันนี้ยังมีแผนนำเทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหารมากขึ้นเช่นนำระบบ POS เข้ามาช่วยขายสินค้าเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภค 

 

โดยปี 2564 ซีอาร์จี มีร้านอาหารในมือทั้งสิ้น 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ,     คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ , อาริกาโตะ และส้มตำนัว  มีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขา ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2564)

  เปิด 4  New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

2. เนรมิตและปรับโมเดลร้านแบบใหม่ 

ปี 2565 ซีอาร์จี มีแผนสร้างโมเดลร้านแบบใหม่ ทั้ง Shop in Shop การซีนเนอร์ยีแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว โดยเฉพาะกรณีศึกษาแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะให้บริการลูกค้า การเปิดร้าน Stand Alone ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container store) ซึ่งเพิ่มโอกาสเติบโตได้อย่างมาก

  เปิด 4  New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

3. เร่งเครื่องบริการเดลิเวอรี่และขยายคลาวด์คิทเช่น

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายบริการเดลิเวอรี่ ออนไลน์ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งทั้งปีคาดการณ์ผลักดันยอดขายในช่องทางเดลิเวอรี่แตะ 3,500ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2564 ซึ่งมียอดขาย 3,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 40% จากปี 2563 และจะขยายคลาวด์คิทเช่นให้ครบ 20 สาขา เพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ จากปัจจุบันมี 11 สาขา  

 

4. ผนึกพันธมิตรสู่ชัยชนะ เพิ่มโอกาสลงทุน M&A และ Joint Venture

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการดำเนินธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ซีอาร์จี เปิดกว้างกลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตรร้านอาหาร 2 มิติ ได้แก่ 

  • การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) รวมถึงการร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้ประกอบการร้านอาหารเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพมาขยายธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งทั้ง 2 ฝ่ายสร้างการเติบโตไปด้วยกัน หรือเกิด Win-Win strategy โดยบริษัทมีจุดแข็งช่วยเสริมแกร่งพันธมิตรหลายด้าน เช่น มีอีโคซิสเทมรองรับ มีการดำเนินงานที่ดี แนวทางการปฏิบัติงานเป็นเลิศ ระบบหลังบ้านต่าง ๆ ช่วยสร้างประโยชน์ และซีนเนอร์ยีด้านต้นทุน เอื้อให้การขยับขยายธุรกิจมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • การดึงพันธมิตรมาขยายร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์ ต่อยอดจากมิสเตอร์ โดนัท และอร่อยดี ไปสู่แบรนด์อื่น ๆ ในเครือเพิ่มเติม เช่น เปปเปอร์ ลันช์ รวมทั้งผลักดัน “สลัดแฟคทอรี่” เข้าไปอยู่สถานีบริการน้ำมัน เปิดในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และออกสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat : RTE) 

“เรามองการเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีไอเดีย คอนเซ็ปต์ร้านดี แล้วต้องการขยายธุรกิจ ซึ่ง ซีอาร์จี มีจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้ ทั้งในรูปแบบที่มาร่วมอยู่ในคลาวด์คิทเช่นของเรา ขณะเดียวกันวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทบธุรกิจร้านอาหาร บางรายบาดเจ็บสาหัส จึงมีทั้งต้องการทำธุรกิจต่อและอยากเลิกกิจการ เราจึงมองหาผู้ร่วมลงทุนและการซื้อกิจการ เพราะมองว่าการอยู่ร่วมกันดีกว่าอยู่คนเดียว จึงจะเห็นเราทำ M&A มากขึ้น เพราะรายย่อยเก่ง มีความสามารถ มีความถนัดหลายด้าน และเราพร้อมช่วยขยายสาขา การรวมพลังกันจึงไม่มีทางที่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่เติบโตมากกว่านั้นได้”

เปิด 4  New S Curve "CRG" ฟื้นธุรกิจร้านอาหาร

นอกจากนี้ ซีอาร์จี ยังวางกลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า เช่น การผนึกกับแพลตฟอร์มเดอะวัน (The1) ของกลุ่มเซ็นทรัล จะเป็นจิ๊กซอว์ทำให้ ซีอาร์จี ได้เก็บข้อมูลลูกค้า (Big Data) ได้รู้จัก เรียนรู้ ทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึกทั้งความชื่นชอบแบรนด์ การรับประทานอาหารแต่ละสัปดาห์เป็นอย่างไร เพื่อนำไปต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และทำลอยัลตี้ โปรแกรมต่าง ๆ ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) กระตุ้นการบริโภคแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้ง 17 แบรนด์มากขึ้น 

 

"แม้ทิศทางธุรกิจร้านอาหารจะดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญโจทย์ทางธุรกิจที่สำคัญ อาทิ ต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองโรค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ น่าจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน การขยายธุรกิจเพื่อให้ได้scale จะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรอง และลดต้นทุนได้”