กพท.แจ้ง 5 สายการบินของไทย เฝ้าระวังโบอิ้ง 737-800 หลังสายการบินจีนตก

23 มี.ค. 2565 | 09:58 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 17:12 น.

กพท.เตรียมทำหนังสือแจ้ง 5 สายการบินของไทย ที่ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ให้ดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังและติดตามการปฏิบัติการบินอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุเครื่องบินจีนตก

จากกรณีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ทะเบียน B-1791 ของสายการบินจีน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ประสบอุบัติเหตุตกขณะกำลังให้บริการในเที่ยวบิน MU5735 จากเมืองคุนหมิง ไปยัง กว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ แต่ประสบเหตุก่อนจุดหมายปลายทาง ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้ง 132 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 123 คน และลูกเรือ 9 คนเสียชีวิตนั้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565

ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เตรียมทำหนังสือแจ้ง 5 สายการบินของไทย ที่ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ให้ดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังและติดตามการปฏิบัติการบินอย่างใกล้ชิด

 

วันนี้ (23 มี.ค.65) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT  เปิดเผยถึงกรณีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ ประสบอุบัติเหตุตกในจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และล่าสุดสายการบินได้สั่งระงับใช้งานเครื่องบินดังกล่าวจำนวน 106 ลำ เป็นการชั่วคราว ว่า ภายในสัปดาห์นี้ กพท. จะทำหนังสือแจ้งไปยัง 5 สายการบินของไทย ที่ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ให้ดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังและติดตามการปฏิบัติการบินอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติให้แจ้งมายัง กพท.

ปัจจุบันมีสายการบินในไทย 5 สายการบิน ที่ปฏิบัติการบินโดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 รวมทั้งสิ้น 39 ลำ  ได้แก่

 

  • สายการบินนกแอร์ 14 ลำ

 

  • ไทยไลอ้อนแอร์ 7 ลำ

 

  • เค-ไมล์ 2 ลำ

 

  • การบินไทย 2 ลำ

 

  • ไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ 1 ลำ

 

กพท. กำลังตรวจสอบและติดตามผลการสอบสวนสาเหตุอย่างใกล้ชิด ซึ่งปกติเครื่องบินทุกลำที่ปฏิบัติการบิน จะตัองมี Certificate of Airworthiness หรือใบรับรองความสมควรเดินอากาศ ซึ่งมีอายุ 3 ปี และต้องตรวจสอบใหม่ตลอดเวลา

 

ในกรณีนี้อาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่า ซึ่งต้องอาศัยผลการตรวจสอบอย่างละเอียดของบริษัทผู้ผลิต แต่เนื่องจากรุ่นนี้ไม่ใช่ B737 Max ที่เคยมีปัญหา และอากาศยานแบบนี้มีการใช้งานในตลาดมานานกว่า 20 ปีแล้ว จึงไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุทางเทคนิคที่มาจากการออกแบบ หรือฝึกอบรมนักบินไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับกรณีของ B737 Max เพราะหากเป็นเช่นนั้นต้องพบปัญหามานานแล้ว ไม่น่าจะอยู่ในตลาดต่อเนื่องมาได้นานขนาดนี้ ซึ่งเรื่องนี้ในที่สุดอาจจะเป็นปัญหาทางเทคนิค ที่อาจจะเพิ่งส่งผลก็เป็นได้ จึงต้องรอผลการตรวจสอบดังกล่าว และขณะนี้ยังไม่มีนโยบายห้ามอากาศยานรุ่นดังกล่าวปฏิบัติการบิน จนกว่าจะมีผลที่ชัดเจนว่าอาจจะมีความไม่ปลอดภัย