นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม (DIPROM)ภายใต้โครงการ ร ดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค ปี 3
ทั้งนี้ เพื่อค้นหาสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ร่วมทดสอบการใช้งานจริงกับองค์กรธุรกิจชั้นนำ สร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน และมีส่วนร่วมผลักดันการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green economy) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี บริษัทฯได้คัดเลือก และทำงานร่วมกับบริษัท สตาร์ทอัพ เพื่อค้นหาโซลูชั่นร่วมกันในการตอบโจทย์ทางด้านการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานและอาคาร (Energy Efficiency) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการบำบัดน้ำเสีย การผลิตพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก และเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นต้น
โดยมีทีมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก (Environmental, Renewable and Alternative Energy Engineering) ของซีพีเอฟ กำหนดโจทย์ให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ในด้าน BCG และทีม Digital Transformation and Innovation ร่วมพิจารณาคัดเลือกสตาร์ทอัพที่นำเสนอโมเดลธุรกิจ
"โครงการดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค เป็นการสร้างโอกาสเติบโตให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของธุรกิจ ตามแนวทาง BCG ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสขององค์กรธุรกิจที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งตามโจทย์ที่ซีพีเอฟกำหนด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และมีส่วนร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก "
นายพีรพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ซีพีเอฟ กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายสู่ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ประกอบด้วย 9 ความมุ่งมั่น ซึ่งหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นเลิศ จำกัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการจัดการพลังงาน ทรัพยากรน้ำและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยบริษัทฯกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยการผลิตลง 25 % ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลง 30 % ต่อหน่วยการผลิต เป็นต้น