ซีพีเอฟประกาศเลิกใช้ถ่านหิน ดันพลังงานชีวมวล ลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตัน

28 มี.ค. 2565 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2565 | 15:45 น.

ซีพีเอฟเคลื่อนธุรกิจสีเขียว รักษาสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าปีนี้เลิกใช้พลังงานถ่านหินในทุกโรงงาน ดันใช้พลังงานชีวมวลแทน เล็งช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตันคาร์บอนเทียบเท่า พร้อมติดตั้งระบบพลังงานโซลาร์ทั้งในโรงงานและฟาร์ม 37 แห่งทั่วประเทศ

 

นายประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า ซีพีเอฟมีวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก มุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าโภชนาการให้กับผู้บริโภคทั้งในไทยและทั่วโลก โดยในช่วงวิกฤติโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างประเทศนี้ บริษัทได้ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งในปี 2021 วารสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับ ซีพีเอฟ เป็นบริษัทที่มีผลดำเนินงานสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกในกลุ่มบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ (ปี 2564 บริษัทมียอดขายมากกว่า 5.12 แสนล้านบาท) โดยมีการส่งออกสินค้า และลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง

 

ประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ

 

 

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับประเด็นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืน โดย ซีพีเอฟ ได้กำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ ด้วย 9 ความมุ่งมั่นที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN)

 

ซีพีเอฟประกาศเลิกใช้ถ่านหิน ดันพลังงานชีวมวล ลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตัน

 

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างการดำเนินงานการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของซีพีเอฟ  กำหนดโดยระดับคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท มีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน คณะกรรมการสนับสนุนและขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืน 9 ความมุ่งมั่น 21 เป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ สามารถขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนให้บรรลุตามเป้าหมาย ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ  การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ซีพีเอฟประกาศเลิกใช้ถ่านหิน ดันพลังงานชีวมวล ลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตัน

 

สำหรับการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ซีพีเอฟ มีนโยบาย รับซื้อข้าวโพดที่มาจากแหล่งปลูกที่ไม่บุกรุกป่า โดยตั้งแต่ปี 2563 บริษัทสามารถรับซื้อข้าวโพด 100% หรือประมาณ 2.17 ล้านตัน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่ได้มาจากแหล่งตัดไม้ทำลายป่า

 

การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ซีพีเอฟใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงาน โดยมีสัดส่วน 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัท หรือคิดเป็นประมาณ 3.07 ล้านกิกะจูล ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล 65% ก๊าซชีวภาพ 33% และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในปี 2564 การใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 48 ล้านต้น หรือคิดเป็น 240,000 ไร่

 

ซีพีเอฟประกาศเลิกใช้ถ่านหิน ดันพลังงานชีวมวล ลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตัน

 

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ได้เพิ่มประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต โดยการนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ในปีที่ผ่านมา ดึงน้ำมาใช้ 136 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถนำน้ำที่ใช้กลับมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่ 44% ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ไป

 

“ในปี 2565 บริษัทยังเดินหน้าการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมดในโรงงานทุกแห่ง (coal free 2022) ในไทย ภายในปีนี้ และมาใช้พลังงานชีวมวล คาดจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ได้ 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

 

ซีพีเอฟประกาศเลิกใช้ถ่านหิน ดันพลังงานชีวมวล ลดก๊าซเรือนกระจก 7 หมื่นตัน

 

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าศึกษาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบัน บริษัทดำเนินการเฟส 1 ติดตั้งระบบพลังงานโซลาร์ทั้งในโรงงานและฟาร์ม 37 แห่ง กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 20 เมกะวัตต์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมไปถึงการใช้พลังงานชีวภาพในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 100 แห่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 492,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3769 วันที่  27 -30 มีนาคม 2565