สถานการณ์การควบรวมกิจการทั่วโลกนั้นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มนักลงทุนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทางการเงิน เช่น กองทุนไพรเวทอิควิตี้ หรือนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Corporates หรือ strategic investors) และการที่นักลงทุนมีเงินทุนที่ระดมมาผ่านทางตลาดทุน และจากบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisition Company: SPAC) ในสหรัฐฯ พร้อมใช้เพื่อสร้างการเติบโตมากกว่าปีก่อน ๆ
ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ราคาซื้อขายกิจการจะสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อนักลงทุนซื้อกิจการมาในราคาที่สูงรวมกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นควบคู่กัน จึงเกิดเป็นความกดดันที่นักลงทุนต้องสร้างมูลค่ากิจการให้เกิดผลกำไรที่สูงกว่าที่เคยทำมาในอดีต
นางสาว ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 เป็นปีที่มีปริมาณการซื้อขายกิจการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจและผู้คนเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และคาดว่า ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการในปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
“เทรนด์ของการทำดีลส์ซื้อขายและควบรวมกิจการของไทยในปีนี้จะคล้ายคลึงกับทั่วโลก แม้กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นสูง และกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงสร้างการเงินสำหรับการบรรลุข้อตกลงในการทำดีลส์บ้าง แต่สภาวการณ์ดังกล่าว กลับจะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าสู่ตลาดใหม่ และแปลงไปสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืน”
สำหรับแนวโน้ม M&A ในอุตสาหกรรมหลักทั่วโลกในปี 65 ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลักมีดังต่อไปนี้
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล น่าจะเป็นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ทุกอุตสาหกรรมต้องกลับมาทบทวนพอร์ตโฟลิโอในปีนี้ แม้การทำ M&A จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การทบทวนธุรกิจเดิมและความสามารถในการทำกำไรก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อกลับมาทบทวนจะช่วยให้เห็นภาพว่า ธุรกิจในปัจจุบันของเรานั้น ยังมีศักยภาพในการเติบโตท่ามกลางแนวโน้มโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ทำให้ช่วงผ่านมาเราจะเห็นหลาย ๆ บริษัทตัดขายธุรกิจที่ผลการดำเนินงานไม่ดี หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักขององค์กร และอีกหลายรายพยายามรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการซื้อกิจการใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการที่สำคัญ ไม่แพ้การเติบโตของรายได้และการลดต้นทุน
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ยังส่งผลโดยตรงกับการบริหารซัพพลายเชนทั่วโลก การเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการวัตถุดิบ แรงงาน การขนส่ง อาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการมีแหล่งวัตถุดิบในประเทศ หรือในละแวกใกล้เคียง หรือ Nearshore มากขึ้น ผ่านการซื้อขายกิจการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อาจมีการหยุดชะงัก หรือล่าช้าในการปิดการซื้อขายกิจการ”