เบอร์ 1 ต้นน้ำ “กัญชา-กัญชง” เมดิคาน่า แล็บ ทุ่ม 120 ล้าน ชู Smart farming

01 พ.ค. 2565 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 13:08 น.

หลงเสน่ห์ “กัญชา-กัญชง” 2 ทายาทตระกูลดัง “พรประภา-ปราณีนิจ” ทุ่มกว่า 120 ล้าน เปิดตัว “เมดิคาน่า แล็บ” ปักหมุดขอเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ชูเทคโนโลยี smart farming ผนวก IOT ผลิตต้นอ่อน-ช่อดอกป้อนตลาด B2B-B2G ก่อนขยายส่งออก ประเดิมประเทศแรกอิสราเอล

2 หนุ่มนักเรียนนอกที่กินนอนต่างแดนมาค่อนชีวิต ทายาทตระกูลพรประภา อย่าง “วรภัทร พรประภา” และ “ศิรสิทธิ์ ปราณีนิจ” ทายาทตระกูลปราณีนิจ ต่างหลงเสน่ห์พืชสมุนไพรไทยอย่าง “กัญชา-กัญชง” จนต้องกระโดดเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง ช่วงเวลาเพียงแค่ปีเศษทำให้เขาได้รู้ว่า “โอกาส” ในธุรกิจนี้ยังเปิดกว้าง และท้าทาย

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้บริหารหนุ่ม “โชกุน-วรภัทร พรประภา” กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท เมดิคาน่า แล็บ จำกัด และ “พริ้นซ์-ศิรสิทธิ์ ปราณีนิจ” กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เมดิคาน่า แล็บ จำกัด กับการคิกออฟ “เมดิคาน่า แล็บ” หลังได้ไลเซนต์ผู้ผลิตกัญชงรายแรกในปีนี้ของกทม. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

เมดิคาน่า แล็บ

นวัตกรรมสุดล้ำ

“วรภัทร” บอกว่า เป้าหมายของเมดิคาน่า แล็บ คือ เป็นผู้ผลิตช่อดอกกัญชง ในมาตรฐาน Medical-Grade เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ด้วยการปลูกใน Indoor Facility ที่ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยี smart farming ทำงานควบคู่กับระบบ IOT ซึ่งสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งอุณหภูมิ ความถี่ของแสง Co2 ในอากาศ ระดับความชื้นและค่าความต่างของแรงดันในใบ เทียบกับแรงดันในอากาศ เป็นต้น

              

ยังมีระบบ automatic fertigation หรือการจ่ายปุ๋ยแบบอัตโนมัติ เพื่อ dosing และ feeding program ที่แม่นยำ สามารถเก็บ data สำหรับการวิจัย รวมถึงตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูลผ่านกล้องวงจรปิด ควบคู่กับ sensor เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลต้นกัญชงให้ได้มาตรฐาน

 

รวมทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยี Artificial Lighting ซึ่งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาด้วย Innovation ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงและการบริหารการใช้พลังงาน เพื่อรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมและเพิ่ม yield หรือปริมาณผลผลิตที่สูงที่สุด เพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีสาร CBD สูงปราศจากสารปนเปื้อน และ THC ไม่เกิน 1% ตามข้อกำหนดของอย.

กัญชง เมดิคาน่า แล็บ

ขอเป็นเบอร์ 1 อุตฯต้นน้ำ

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่เมดิคาน่ามีห้องปฏิบัติการซึ่งประกอบด้วย ห้องแม่พันธุ์ ห้องทำดอก ห้องทำใบ ห้องต้นกล้า และห้องเก็บผลผลิต โดยบริษัทออกแบบ Facility ให้รวมไปถึง Nursery Shelves หรือแหล่งเพาะปลูกต้นกล้า เกรด Indoor

 

ด้วยสายพันธุ์กัญชงที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนามามากกว่า 2 ปี ซึ่งมีสาร CBD สูงถึง 22% และ Terpene profile ที่มีเอกลักษณ์ จากการวิจัยคัดสรรพันธุกรรมจากพาร์ทเนอร์ ด้วยความร่วมมือกับ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ ภาควิชากัญชาเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและเกษตรกรทั่วไป

กัญชง เมดิคาน่า แล็บ

นอกจากนี้เมดิคาน่ายังร่วมกับธาราเธรา คอร์ปอเรชั่น บริษัทที่มีประสบการณ์มีทีมงานที่มีความรู้ด้านกัญชาและกัญชงทั้งในและต่างประเทศมายาวนาน ผลิตสารสกัด CBD จากต้นกัญชง ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเครื่องสำอางอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้สนใจทั่วไป

 

ดันไทยฮับอาเซียน

“ศิรสิทธิ์ ปราณีนิจ” กล่าวว่า บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนกว่า 120 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนเฟส 1 ซึ่งลงทุนไปแล้ว 20 ล้านบาท สำหรับโรงเรือนเพาะปลูก Indoor Facility ซึ่งจะให้ผลผลิตลอตแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานองค์กรภาครัฐ (B2G) และ บริษัท เอกชนที่ต้องการดำเนินธุรกิจ (B2B) ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจและอยู่ระหว่างการเจรจาเบื้องต้นแล้วหลายราย

              

ส่วนเฟส 2 จะใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในการลงทุนขยายกำลังการเพาะปลูก กำลังผลิตพร้อมต่อยอดธุรกิจจากต้นน้ำ สู่กลางน้ำและปลายน้ำ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรในการลงทุนแบบครบวงจร เพื่อสร้างผลผลิตให้มากขึ้น การแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพื้นที่ขยายโรงเรือนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

กัญชง เมดิคาน่า แล็บ

“เป้าหมายของเราคือการสร้างเครือข่ายธุรกิจกัญชา-กัญชง และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ธุรกิจกัญชา-กัญชงของอาเซียน ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การท่องเที่ยว การส่งออก และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

โดยปีนี้ถือเป็นการเริ่มต้น ก่อนที่จะเดินหน้าและสร้างรายได้ให้เติบโตกว่า 100% ในปีหน้า ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศมีศักยภาพและต้องการผลิตภัณฑ์ของไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาที่จะส่งออกไปยังประเทศอิสราเอลด้วย”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,779 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565