เมื่อวันที่ 29 เมษายน ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ได้มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทางป้องกันเมื่อกัญชาอาจมีผลทางจิต” และการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติดครั้งที่ 11 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting
ผศ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบของกัญชาต่อสมองและโรคทางจิต ว่า ในกัญชาจะมีสาร THC ที่มีฤทธิ์มึนเมาทำให้เกิดการเสพติดได้
หากมีการใช้เป็นระยะเวลานานก็จะเพิ่มโอกาสมีอาการของโรคจิต เพิ่มโอกาสมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และลดความสามารถของสมองในการรู้คิด ลดความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ลง
ยิ่งใช้ประจำก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะคนอายุน้อย วัยรุ่นจะเห็นผลลบ หรือผลร้ายชัดเจนมากกว่าผู้ใหญ่
เนื่องจากสมองของวัยรุ่นยังไม่โตเต็มที่จึงเปราะบางต่อสารเสพติด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงกัญชาของเด็ก เยาวชนอย่างเข้มงวด
เช่น ให้ความรู้ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชน ทั้งนี้ผู้กำหนดนโยบายควรพูดให้ชัดเจนว่ากลุ่มประชากรกลุ่มไหนที่ไม่ควรใช้กัญชา คนที่มีโรคทางจิต ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเปราะบางทั้งหลาย เป็นต้น
เพราะข้อมูลในต่างประเทศพบว่าเมื่อมีการทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วมีโอกาสที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงเยอะแน่นอน
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากกัญชา ว่า จริงๆ แล้วนโยบายกัญชาถูกกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด
แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายแบบสุดขั้ว จากยาเสพติดมาเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีวิธีการป้องกันที่เพียงพอ
เช่น กรณีที่ระบุว่าไม่สนับสนุนให้ใช้เพื่อสันทนาการ จึงต้องถามต่อว่าเมื่อเข้าถึงง่ายเช่นนี้แล้วมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการใช้เพื่อสันทนาการอย่างไร ต้องหนักแน่น
ซึ่งตอนนี้พูดถึงเรื่องทางเทคนิคเกินไปว่า THC ต้องไม่เกิน 0.2% หรืออื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติการใช้สารเสพติดมีกระบวนการทางสังคมอีกเยอะ
ยกตัวอย่างประเทศ แคนาดาที่จับตามห่วงโซ่ เช่น โฆษณา ปลูก โยกย้ายเสี่ยงนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเราต้องวิเคราะห์ปัญหาให้แตก และทำกฎหมายให้ครอบคลุม
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้สังคมต้องช่วยกันดูและส่งเสียงไม่ให้เรื่องนี้เป็นระบบปิด ส่งเสียงให้ภาคนโยบายได้ยินและนำไปสู่การปรับปรุงการควบคุมดูแลที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมองว่าควรมีการตั้งกองทุนลดผลกระทบจากกัญชา อยู่ภายใต้พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยเอาเงินจากผู้ที่ได้รับกำไรจากกัญชามาใส่กองทุน มีการบริหารกองทุนที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส
ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่คนได้กำไรจากกัญชา แต่ไม่มีใครรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น แล้วมาเบียดบังงบประมาณปกติมาใช้ก็ไม่แฟร์ เช่นเดียวกับกองทุน สสส.ที่ดูแลเรื่องเหล้า บุหรี่อยู่ ขณะที่กัญชาเองก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน ต่อไปหากขับรถเกิดอุบัติเหตุ อาจจะต้องมีการตรวจกัญชาในเลือดด้วย เป็นต้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงมาตรการทางกฎหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
เป็นการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน จากนี้จะทำให้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาออกมาจำนวนมาก
เหนืออื่นใดในทางพิษวิทยานั้นกัญชามีทั้งคุณ และโทษ จึงต้องกำกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาให้มีความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายที่ดูแลเรื่องอาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเกณฑ์มาตรฐานคอยดูแลอยู่ เพียงแต่เป็นการดูแลภาพรวม
ปัจจุบันมีคนมาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากกัญชามากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับ โดยมีหน่วยงานเฉพาะกัญชา แต่อยู่ภายใต้การกำกับของอย.
ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะไม่ทำแค่การออกใบอนุญาตอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการเฝ้าระวัง และติดตามผลภายหลังการบริโภค รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาจะมีหน่วยงานติดตามย้อนกลับด้วย ในส่วนของไทยยังต้องดูว่าร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ...ที่เสนอต่อรัฐสภานั้น กำหนดเรื่องนี้ไว้หรือไม่.