สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน แถลงการณ์ จากไทยเบฟ ระบุ “คณะกรรมการเล็งเห็นโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจเบียร์ และเชื่อว่าโอกาสนี้สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยคณะกรรมการบริหารผู้อุทิศตัว และทีมจัดการที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจเบียร์เท่านั้น”
หลังนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียน ไทยเบฟตั้งใจครองหุ้นข้างมากในธุรกิจเบียร์ไว้ และจะนำเงินส่วนหนึ่งจากการขายหุ้นไปชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยการนำบริษัทลูกของไทยเบฟเข้าจดทะเบียนครั้งนี้ จะเป็นการทำไอพีโอครั้งใหญ่สุดของสิงคโปร์ในรอบเกือบสิบปี ก่อนระงับไปในเดือนเม.ย.ปีก่อน โดยในม.ค.2564 รอยเตอร์ เคยรายงานว่า การทำไอพีโออาจระดมทุนได้ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “ไทยเบฟ” ได้เผยแพร่เอกสารรายละเอียดแผนการนำธุรกิจเบียร์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์โดยเอกสารระบุว่า ไทยเบฟจะนำ บริษัท BeerCo ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของไทยเบฟ และไทยเบฟถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท International Beverage Holdings อีกทอดหนึ่งเพื่อเข้าซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะนำหุ้นสามัญเสนอขายต่อนักลงทุนประมาณ 20% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของ BeerCo
BeerCo เป็น บริษัท ที่จัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการผลิต และจัดจำหน่ายเบียร์ โดยมีปรับโครงสร้างภายในกลุ่มไทยเบฟซึ่งดำเนินการและแล้วเสร็จในปี 2563 เรื่องการปรับปรุงและรวมธุรกิจเบียร์และการดำเนินงานของกลุ่มไทยเบฟ ภายใต้ BeerCo ยกเว้นการขายผลิตภัณฑ์เบียร์ไทยนอกประเทศไทย
ทั้งนี้ธุรกิจที่อยู่ภายใต้ BeerCo ประกอบด้วยการผลิต และจัดจำหน่ายเบียร์ อาทิ ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย ในประเทศไทย รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่าย “ Bia Saigon และ“ 333” ในเวียดนาม ภายใต้ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation หรือ SABECO แต่ไม่รวมการขายเบียร์ในประเทศอื่นๆ
BeerCo มีทรัพย์สินประกอบด้วยโรงกลั่นในไทยและเวียดนามรวม 26 แห่ง ผลประกอบการปีงบประมาณ 2563 สิ้นสุดวันที่วันที่ 30 กันยายน 2020 รายได้ของ BeerCo Group อยู่ที่ประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ กำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ประมาณ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
คณะกรรมการ บริษัท ไทยเบฟ ("บอร์ด") เชื่อว่าการนำธุรกิจเบียร์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ดังนี้
1 ศักยภาพในการเติบโตที่สำคัญของธุรกิจเบียร์ โดยคณะกรรมการและทีมผู้บริหารที่ ของ BeerCo จะประกอบด้วยสมาชิกที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเบียร์ นอกจากนี้ตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตใหม่ของ BeerCo BeerCo ในฐานะนิติบุคคลที่จดทะเบียนแยกต่างหาก จะสามารถเข้าถึงตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนได้โดยตรง และสามารถใช้ประโยชน์จากตัวเลือกการระดมทุนที่หลากหลายเพื่อเป็นเงินทุนได้อย่างอิสระ เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต
2 ฐานะการเงินของกลุ่มไทยเบฟมีความมั่นคงมากขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการขยายธุรกิจส่วนอื่น ๆ คาดว่ากลุ่มไทยเบฟจะสามารถใช้เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการเสนอขายเพื่อชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของกลุ่มลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มไทยเบฟในภาพรวม ซึ่งจะทำให้กลุ่มไทยเบฟแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต และสามารถใช้ทรัพยากรทางการเงินสำหรับส่วนธุรกิจอื่น ๆ ได้ดีขึ้น
3 เพิ่มความโปร่งใส่ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ BeerCo Group และความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจหลักของ กลุ่มไทยเบฟ มีมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น
ไทยเบฟเชื่อว่า ตำแหน่งของ BeerCo Group ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นเบียร์ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ ศักยภาพในการเติบโต ผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์จากมูลค่าของหุ้นที่เกิดขึ้น จากการเสนอขายหุ้น นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นยังสามารถมีส่วนร่วมในการเติบโตของกลุ่ม BeerCo ผ่านไทยเบฟ เนื่องจากไทยเบฟยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สำคัญใน BeerCo Group
หลังจากการ Spin-off ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรายใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนในหุ้นของ ThaiBev และ BeerCo อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ตามความต้องการ ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในกลุ่มไทยเบฟมากขึ้น
อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการเน้นย้ำว่าแผนการนำ BeerCo เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งและหน่วยงานทางการเงินของสิงคโปร์ เช่น ธนาคารกลางสิงคโปร์ก่อน