หลายคนอาจมองว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” เดินหน้าเข้ามาดิสรัปท์ ทำให้องค์กรต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับโลกบันเทิง หรือ Entertainment กลับสอดรับกันได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
เช่นเดียวกับ “เมทาเวิร์ส” ที่กำลังถูกนำมาหลอมรวมกับโลกเอ็นเตอร์เทน จากจุดเริ่มต้นของ Music NFT การนำสินค้าทรัพย์ทางปัญญา (Intellectual Property) ลิขสิทธิ์ (Copyright) มาต่อยอดเป็นมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง และจะเป็นจุดเปลี่ยนของโลกบันเทิงในอนาคตอันใกล้
“ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่นำศิลปินมาเมิร์สรวมกับโลกดิจิทัล จนเป็นรูปเป็นร่างและเกิดขึ้นเป็น Music NFT
“วันนี้ NFT เป็นโกลบอลไรซ์อยู่แล้ว ตลาดแรกเริ่มของเราอาจจะเป็นคนในประเทศ แต่อนาคตเป้าหมายคือต่างประเทศ”
เพราะเชื่อว่า NFT กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก เปิด “โอกาส” สร้างมูลค่าและสร้างรายได้จากการซื้อขายชิ้นงานแบบไร้ขอบเขต เพราะที่ผ่านมา GMM มี Hidden Asset มหาศาล สามารถสร้างหรือต่อยอดเป็นตลาด Music NFT ได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงของการทดลอง และเรียนรู้ ซึ่งการจับมือกับพันธมิตรจะทำให้เราแข็งแกร่ง และเป็นตัวเร่งให้ตลาด Music NFT ของไทยเติบโตเร็วขึ้น
แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ถือว่าซัคเซส เกินเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ pipe line ของ GMM จึงมีทั้ง เมทาเวิร์ส คอนเสิร์ต และเมทาเวิร์ส แฟนมีท รวมถึงเมทาเวิร์ส รูปแบบอื่นๆ ส่วนเป้าหมายรายได้จากธุรกิจในแพลตฟอร์มนี้ “ภาวิต” บอกว่า คาดเดายาก เพราะธุรกิจนี้ไม่ใช่ตลาดแมส การจะหวังรายได้เป็นพันล้าน ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของตลาด โดยตลาดเมทาเวิร์สที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้ คือ เกม ไม่ใช่มิวสิค
อีกมุมมองที่ “ภาวิต” สะท้อนไว้ได้อย่างน่าสนใจคือ เมทาเวิร์ส จะเป็นกว้างให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว (Traveling) ซึ่งบางคนยังเชื่อกับการปีนยอดเขาหิมาลัย แต่ก็มีบางคนที่ขึ้นไปดูยอดขายหิมาลัยได้โดยไม่ต้องปีน ด้วยเมทาเวิร์ส ดังนั้นโลกของ Metaverse Tourism จะใหญ่มาก
แต่สุดท้ายแล้ว “ภาวิต” ก็ยังยืนยันที่จะอยู่ใน Metaverse Entertainment ด้วยเหตุผลว่า core business ของ GMM คือ เพลง
อีกหนึ่งกูรู ในวงการเพลงที่สนใจและศึกษาโลกเมทาเวิร์สอย่าง “สุทธิพงษ์ วัฒนจัง” Executive Creative Marketing บริษัท ทวิน แพลนเน็ต จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หลังวงการเพลงถูกดิสรัปชั่นจากดิจิตอล จะเห็นว่าค่ายเพลงใหญ่ๆถอย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือขาดผู้สนับสนุน
ถ้าสังเกตวงการเพลงฝั่งเกาหลีจะเห็นว่ามีการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2540 แล้วก้าวกระโดดไปไกลมาก ฉนั้นจะต้องมีการลงทุน มีการเปิดพื้นที่ ซึ่ง “ทวิน แพลนเน็ต” เองได้เปิดลานปลาทูในเมทาเวิร์ส twin planet เพื่อให้ผู้ที่สนใจ มีทาเลนจ์ต่างๆ เข้าไปลงทุน
เพราะการที่จะไปสู่ระดับโลกไม่มีทุนไม่ได้ ต้องลงทุนอย่างเยอะและสูงมากและต่อเนื่องเพราะฉนั้นธุรกิจเพลงในเมืองไทยหลังจากวันนี้ไปเชื่อว่าจะต้องเป็นวันเริ่มต้นของการที่นักลงทุนจะต้องเข้ามาลงทุนกับศิลปินให้มากขึ้นเพื่อที่จะบุกไปถึงระดับโลก
“เมทาเวิร์สที่ทวิน แพลนเน็ตสร้างคือโลกเสมือนจริง ไม่ใช่แค่ดูคลิปหรือดูไลฟ์แบบแบนๆแต่สามารถที่จะใส่ VR แล้วเข้าไปสู่อยู่ในสถานที่ที่เขาแสดงจริงๆ การแสดงคอนเสิร์ตที่เป็นไลฟ์คอนเสิร์ตจริงๆไม่ลดลงถ้าสถานการณ์โควิดคลี่คลายคนยังโหยหาอยู่ เพียงแต่ว่าสามารถที่จะต่อยอดออกไปเป็นเมทาเวิร์สนั่นแปลว่า ผู้ชมจะมีได้มากกว่าออนกราวด์ เพราะคนอยากดูเป็นล้านคนก็สามารถที่จะดูพร้อมกันได้ในเมทาเวิร์ส”
วันนี้เราเปิดโอกาสให้กับน้องๆที่มีความสามารถหรือมีทาเลนจ์ มาแสดงบนพื้นที่ลานกิจกรรม เข้ามาโชว์ความสามารถ มาโชว์ผลงานเป็นทาเลนจ์อะไรก็ได้ เราเรียกที่นี่ว่า “ลานปลาทู” เพราะเรามีแมวมอง ในวงการต่างๆเข้ามาดูคนที่มีความสามารถ ที่น่าจะดีเวลลอปหรือชวนเข้าวงการและพัฒนาให้สร้างเพลงสร้างผลงานได้
ส่วน Metaverse Concert ที่หลายคนสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร “กัลญวีร์ ชุมพล ณ อยุธยา” ซีอีโอ พาโน อินดัสทรีส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “เอ พลาโน่ เทค” ผู้จัดเมทาเวิร์ส คอนเสิร์ต “HYPE TYPE METAVERSE CONCERT” ที่มีศิลปินทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม โดยจะมีขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม นี้ ในรูปแบบ Online Metaverse Party Concert ที่คาดว่าจะมีผู้ชมทั่วโลก 20 ล้านคน เล่าให้ฟังว่า
คอนเสิร์ต “HYPE TYPE METAVERSE CONCERT” นี้ถูกพัฒนาระบบ Metaverse และ Production ด้วยเทคโนโลยีที่มีทั้งกราฟฟิคดูได้ 4 มิติ แบบ 360 องศา ด้วย Know How เทคโนโลยี CG Sci-fi ทำให้ผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตสามารถมี interaction พูดคุย โชว์ตัว ดูศิลปินได้เหมือนมีศิลปินมายืนตรงหน้า แบบใกล้ชิด
นี่แค่จุดเริ่มต้นเล็กๆของโลกบันเทิงใน Metaverse ยังต้องจับตาโลกไร้พรมแดนนี้ ว่าจะเจิดจรัส หรรษาแค่ไหน
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565