GMM นำทัพเปิดตลาดเพลง-คอนเสิร์ต ‘เมทาเวิร์ส’

16 เม.ย. 2565 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2565 | 16:17 น.

อุตสาหกรรมเพลง ตบเท้าสู่โลกเมทาเวิร์ส GMM ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 ด้วยรายได้ 100 ล้าน ประเดิมด้วย Music NFT ตามด้วยเมทาเวิร์ส คอนเสิร์ตและเมทาเวิร์ส แฟนมีท เผยหลังชิมลางส่ง exclusive collection กระแสตอบรับดีเกินคาด

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทพร้อมพัฒนาขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกเมทาเวิร์ส ด้วยการพัฒนาเมทาเวิร์สคอนเสิร์ต และเมทาเวิร์ส แฟนมีท รวมถึงเมทาเวิร์ส รูปแบบอื่นๆ ตามเทรนด์ของโลก จากปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ตลาด Music NFT จากกระแสนิยม Non-Fungible Token (NFT) ในโลกสินทรัพท์ดิจิทัล ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก

 

โดยเป้าหมายของบริษัท คือ การกระโดดไปกับเทรนด์ เริ่มต้นจากการศึกษา ทดลองและเรียนรู้ ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะเป็นแม่น้ำสายใหม่ในอนาคต จากปัจจุบันที่สร้างรายได้ในหลักหลายล้านบาท แต่สำหรับบริษัทยังไม่ใช่รายได้ใหญ่ เพราะอยู่ในช่วงของการทดลองและเรียนรู้

ภาวิต จิตรกร

ขณะที่ผู้ที่กระโดดเข้ามาในเมทาเวิร์ส หรือบล็อกเชน ของประเทศไทย ยังไม่ไช่กลุ่มใหญ่ ยังเป็นแมส การจะหวังรายได้เป็นพันล้าน ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของตลาด ซึ่งวันนี้ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมทาเวิร์ส คือ เกมมิ่ง แต่ตลาดมิวสิค เมทาเวิร์สยังไม่ได้ใหญ่มาก

 

“1 ปีที่ผ่านมาคือเป็น Good Start เพราะเราตื่นตัวได้เร็วกว่าบริษัทอื่นๆ นับจากวันเริ่มศึกษา เมื่อประกาศเป็นภาพใหญ่ของโกลบอล เราก็เดินได้เร็ว และสิ่งสำคัญคือ เรามีการเตรียมการใน pipe line ทั้งระยะกลางและระยะยาวค่อนข้างมาก ดังนั้นในช่วงเทสต์ตลาด จึงต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม”

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากจะปล่อยของเป็นหมื่นชิ้น โดยทดลองปล่อยก่อน 400 ชิ้นซึ่งเป็น exclusive collection หรือ special collection หาก sold out เราก็ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น ขยายศิลปินให้หลากหลายขึ้นก็เป็นได้

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่               

“การเริ่มทดลอง ต้องบอกว่ามีแต่ได้ กับได้ ไม่มีเสีย เพราะในความเป็นจริงโลกมาทาเวิร์สใหญ่มาก นอกจากธุรกิจเพลงแล้ว อีกหลายธุรกิจก็น่าสนใจ โดยเฉพาะในธุรกิจที่จำกัดเรื่องของขนาด เช่น กีฬา เมื่อสนามฟุตบอล จุคนได้ 7 หมื่นคน แต่ในโลกเมทาเวิร์ส อาจจะดูได้หลักร้อยล้านคน หรือการจัดคอนเสิร์ต เช่น อิมแพ็ค อาจจุคนได้ 1 หมื่นคน ราชมังคลาได้ 6 หมื่นคน แต่ในอนาคต อาจมีคนดูในเมทาเวิร์ส 10 ล้านคนก็เป็นได้”

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเมทาเวิร์ส คอนเสิร์ตจะไม่ทำให้คอนเสิร์ตออนกราวนด์หายไป เพราะเป็นประสบการณ์ที่แทนที่กันไม่ได้ และทำให้คอนเสิร์ตทั้งสองรูปแบบเติบโตไปพร้อมกัน เพราะคนบางกลุ่มยังต้องการที่จะสนุกสนานกับคอนเสิร์ตกับเพื่อน ส่วนบางคนอยากได้ประสบการณ์การดูคอนเสิร์ตแบบเมทาเวิร์ส

 

สำหรับเป้าหมายการเดินหน้าธุรกิจในโลกเมทาเวิร์สของแกรมมี่ คือ การเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ซึ่งจะต้องมีรายได้ราว 100 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 3 ปี

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

ทั้งนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment Industry) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงจากทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ลิขสิทธิ์ (Copyright) GMM Grammy จึงร่วมกับบิทคับนำเทคโนโลยีบล็อกเชนสร้าง Music NFT โดยวางสินค้าที่จะอยู่ในแพลตฟอร์มของ Bitkub ออกเป็น 4 Tiers ที่จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เป็น Rare item และมีความ Exclusive โดยแบ่งออกเป็น 4 คอลเลคชั่น ได้แก่

 

1. Special Collection สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเพิ่งเริ่มต้นเข้ามาในโลกของ MUSIC NFT ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะเน้นความ Mass เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง

 

2. Rare Collection กลุ่มนี้จะเป็นสินค้าที่มีจำกัดและเป็น Unseen Item โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Limited Item และ Limited Movement

 

3. Epic Collection กลุ่มสินค้าที่ไม่มีการผลิตซ้ำ เป็น Moment พิเศษ ที่เป็นตัวแทนของความทรงจำที่มีคุณค่าให้แฟนๆ ได้เข้าถึงและสามารถครอบครองได้

 

4. Legendary Collection เป็นสินค้าและผลงานของศิลปินระดับตำนานของประเทศที่มีเรื่องราวความเป็นมา มีความหายาก บางชิ้นนับเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก