อาหารจากแมลง (Edible insect) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาหารใหม่ (Novel food) หนึ่งใน “Future Food” หรือ อาหารแห่งอนาคต เทรนด์โลกที่คนพูดถึงและกำลังได้รับความนิยม จากการถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนองตอบความมั่นคงทางอาหาร (Food security) โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตอาหารใหม่ๆ รวมถึงพฤติกรรมการเปิดรับอาหารชนิดใหม่ๆ ของคนต่างสังคมและวัฒนธรรม
ปัจจุบันอาหารจากแมลงมีการเติบโตและขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยพบว่ามีมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.15 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25% แม้ตลาดจะได้รับผลกระทบยอดขายชะลอตัวลงจากสถานการณ์จากโควิด-19 แต่ผู้ผลิตก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง
คาดว่าตลาดจะกลับมาขยายตัวดีอีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลาย สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกแมลงราว 500-600 ตันต่อปี มูลค่า 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ เช่น แช่แข็ง แป้ง ส่วนการแปรรูปจะอยู่ในรูปแมลงกระป๋อง
นายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานวิจัยเกษตรและ อดีตทูตเกษตรวอชิงตันดีซี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 7,600 ล้านคนและอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มไปเป็น 9,000 ล้านคน หมายความว่าการบริโภคแมลงก็จะต้องเพิ่มตามไปด้วย
ในอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือในตัวแมลงเอง แบ่งเป็นแมลงที่กินได้อยู่ 1,900 ชนิด แยกเป็นแมลงที่คุ้นเคยกันอยู่ในลักษณะของสแน็ค เช่น ด้วงสาคูมะพร้าว หนอนผีเสื้อ ตั๊กแตน จักจั่น แมงดานา ซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย นอกจากนี้ยังมีตัวเต็มวัยของปลวก และแมลงวันลายดำ ซึ่งกินอินทรีย์วัตถุที่สามารถชูเป็นพระเอกได้เพราะสามารถนำมาแปรรูปเป็นทั้งอาหารสัตว์และอาหารคน
ข้อมูลของสหภาพยุโรปเดือนกรกฎาคม 2564 ระบุว่า มี 3 ประเทศรวมทั้งประเทศในสหภาพยุโรปได้ส่งข้อมูลเพื่อที่ขอเปิดตลาดแมลง 19 ราย เช่น จิ้งหรีดแห้งของไทย จิ้งหรีดไร้ไขมันของเวียดนาม ตั๊กแตนจากเนเธอร์แลนด์ แมลงวันลายจากฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและเดนมาร์ก ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางเลือกของทั้งอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่เริ่มมองเห็น
ประเด็นที่อยากจะชี้คือ แมลง มีความสำคัญ ภาพที่เห็นชัดคือจากรายงานที่พูดถึงการบริโภคหรือการผลิตโปรตีน 1 กิโลกรัมด้วยตัวแมลงใช้พื้นที่แค่ 35 ต.ร.ม.ในขณะที่ปศุสัตว์ใช้ถึง 200 ต.ร.ม. เห็นภาพชัดว่าแมลงสามารถเลี้ยงที่ไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท
ในแง่ของเกษตรกรก็มีความสำคัญในมุมที่ว่าแมลงเป็นตัวที่น่าจะมีต้นทุนต่ำ ใช้เทคโนโลยีไม่สูงและก็เป็นโอกาสที่จะไปเสริมเรื่องของรายได้ให้กับเกษตรกร รวมไปถึงภาพการลดความยากจนของเกษตรกร นี่เป็นหัวใจสำคัญที่น่าจะจับตามองในประเด็นเหล่านี้
สำหรับปัจจัยหลักๆที่มีผลต่อการเกิดของอุตสาหกรรมอาหารจากแมลง ปัจจัยแรกคือ ผลิตภัณฑ์แมลง จะต้องไปมองในเรื่องของคุณภาพ ราคาจับต้องได้ ประโยชน์ และการเคลมในสิ่งที่เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้จริง ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การแปรรูป เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ
และปัจจัยสุดท้ายคือความเชื่อมั่นในเรื่องของบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งในสหภาพยุโรปการได้ออกกฎหมายที่เน้นไปที่ตัวผู้บริโภคเป็นหลัก มองถึงความอยู่ดีมีสุขของตัวผู้บริโภครวมไปถึงเรื่องของ novel food ที่จะต้องจับตามอง นอกจากนั้นยังต้องมองถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลที่อาจมองเห็นแมลงแล้วยังมีความรังเกียจ
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งกลุ่ม food connect กล่าวว่า ประเทศไทยมีแมลงจำนวนมากแต่ก่อนอื่นจะต้องเลือกชนิดแมลงที่จะนำมาทำอาหารที่เหมาะกับประเทศไทย และแมลงที่จะส่งออกไปต่างประเทศได้ เพราะตลาดในประเทศอาจจะเล็กเกินไปถ้าเกษตรกรเข้ามาสู่ตลาดจำนวนมาก
ดังนั้นจะต้องมองตลาดต่างประเทศว่าปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและประเทศไหนบ้างที่จะต้องไปขึ้นทะเบียน novel food ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องมานั่งคุยกันมีบทสรุปให้ได้
“ตอนนี้ประเทศต่างๆ ที่ให้ความสนใจกับเรื่องของแมลงเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเติบโตของตลาดก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคเองบางคนไม่เคยและไม่กล้าทานแมลงแต่เมื่อลองทำเป็นมื้ออาหารที่เข้าถึงง่ายออกมาในรูปอาหารที่น่าทานไม่ใช่รูปลักษณ์ของแมลงที่น่ากลัว เพราะว่าบางคนอาจจะมีความขยะแขยงหรือความกังวล
ทั้งที่แมลงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เราทานมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงแต่ว่าตอนนี้เรากำลังจะเริ่มคืนสู่สามัญ ด้วยปัญหาต่างๆที่ทยอยเข้ามาและเราต้องบอกชาวโลกด้วยว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากๆในเรื่องของแมลงในมุมของเป็นอาหารคน และอาหารสัตว์”
ขณะที่ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์สาขากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ตลาดอาหารจากแมลงที่เห็นภาพชัดเจนคือ ตลาดยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีแมลง 8 ชนิดที่อนุมัติให้เลี้ยงเพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร หนึ่งในนั้นคือ จิ้งหรีด แต่จิ้งหรีดที่ประเทศไทยเลี้ยงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของยุโรป นั่นหมายความว่าในต่างประเทศพยายามออกกฎเกณฑ์ตามสิ่งที่ประเทศนั้นๆมี
“แมลง 8 ชนิดที่ EU อนุมัติให้เลี้ยงได้หนึ่งในนั้นมีแมงมันซึ่งบ้านเรามีเยอะแยะ แต่ถ้าจะให้เลี้ยงเป็นแสนเป็นล้านก็ต้องมองว่าเราจะเลี้ยงแบบไหน แต่ในยุโรปไม่มีแมงมัน จึงไปส่งเสริมให้จีนเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์ พอมาพูดในบริบทของอาหารสัตว์แมงมันมีมากกว่าหนึ่งชนิดที่เป็นอาหารสัตว์ได้
แต่ BSF หรือแมลงวันลาย เป็นสายพันธุ์เดียวที่มีทั้งโลกแตกต่างกันที่ชื่อเรียกตามแต่ละภูมิประเทศ ลักษณะสำคัญคือเป็นศัตรูพืช และก็กิน organic waste หรือซากพืชซากสัตว์ ซึ่งบ้านเรามีเยอะมากมหาศาล
ตอนนี้จะเห็นทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งบริษัทในเมืองไทย หรือเพื่อนบ้านเราจำนวนมาก เพราะแมลงวันลาย คือวัตถุดิบหลักที่ไทยมีมหาศาล แมลงแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจบริบทของแมลงเหล่านี้ที่เป็นผู้กินขยะทั้งหมดที่เราทิ้งแล้วมาเพิ่มมูลค่าขึ้นมา แน่นอนว่าโปรตีนที่ทุกคนเห็นและถ้ามองในมุมของราคา ต้องจับต้องได้ด้วย เพราะปัจจุบันราคารับซื้อปลาป่นอยู่ที่ 30 บาท แมลงตัวนี้ก็ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน
“เราต้องมองมากกว่านั้นเพราะแมลงตัวนี้นอกจากโปรตีนแล้วยังมีสารอื่นๆ อีกเยอะ ตอนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำมาทำแอนไทน์ เปบไทน์ เพราะแมลงตัวนี้จะมีสารสร้างเชื้อจุลินทรีย์เราอยู่ในขั้นทดลอง และแพทย์ก็นำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต่อยอดขึ้นมาเพราะฉะนั้นเราอยากให้เห็นว่าแมลงนอกจากมีโปรตีนที่ทุกคนพูดถึงแล้วมันก็ยังมีสารอื่นอีกเยอะถ้าเรารู้จักดึงและหยิบขึ้นมา”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565