เบทาโกร เปิดเกมรุก ทุ่ม5 พันล้านขยายการผลิตสุกร-ไก่ ป้อนตลาด

10 พ.ค. 2565 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 20:10 น.

เบทาโกร ทำผลงานปี64 ปิดรายได้ 85.4 พันล้านบาท แม้เศรษฐกิจตกต่ำ ปัจจัยลบรอบด้าน เตรียมทุ่ม5,000ล้านบาทขยายกำลังการผลิตพ่อแม่พันธุ์สุกร-ไก่ รับมือความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารหนุนเศรษฐกิจภาพรวมฟื้น ภายใต้กลยุทธ์ POWERING CHANGE

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นความท้าทายที่ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัว อย่างไรก็ตามแม้ช่วงปี 2564 จะมีปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากมาย แต่ เบทาโกร ยังสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ดีโดยมีผลประกอบการสิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมียอดรายได้จำนวน 85.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้ 80.1 พันล้านบาท

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

โดยเป็นการเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศควบคู่กัน แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจเกษตร 29% กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน 63.4% กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ 5.7% กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง 1.8% และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.1%  โดยการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศที่มีการขยายกำลังการผลิตทั้งในประเทศลาวและกัมพูชา

ล่าสุด ผู้บริหารออกมาเปิดเผยถึงทิศทางของ เบทาโกร ในปีนี้ โดยหลักสำคัญคือแผนกลยุทธ์ใหม่ POWERING CHANGE ปรับองค์กรสู่การทรานสฟอร์มครั้งใหญ่ใน 5 ไดเมนชั่น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น 

 

ทั้งนี้นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าภายใต้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ การกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งระบาดและติดเชื้อได้ง่าย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ 

สองปัจจัยหลักนี้นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ที่อาจเกิดขึ้น ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

และการกำหนดดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพความสำเร็จของธุรกิจแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม ควบคู่กับการเติบโตในเชิงตัวเลข ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับปีนี้ เบทาโกรได้ตั้งเป้าการเติบโตมากกว่า 2 ดิจิด และเตรียมงบสำหรับการลงทุนในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนขยายฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์ไก่และสุกร ขยายโรงงานอาหารสัตว์ ปรับปรุงเครื่องจักรและเพิ่มไลน์การผลิตในโรงงาน

 

“ในปีนี้เราจะมีการลงทุนในเรื่องของการขยายฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือสุกรและโรงงานอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ที่เน้นย้ำทั้งเรื่องESG และ Automation ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มกำลังการผลิตไปแล้ว ส่วนในเรื่องของธุรกิจอาหารเองวันนี้เรามีการพัฒนาเรื่องของการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรและเพิ่มไลน์การผลิตในโรงงานที่เราคิดว่าปรับปรุงได้ตาม demand 

 

ส่วนโรงงานประกอบอาหารขนาดใหญ่เรามีไปป์ไลน์อยู่พอสมควรและมีการลงทุนโรงงานขนาดกลางในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นโรงงานแปรรูปสุกรไก่หรือโรงคัดไข่  สำหรับธุรกิจการส่งออกเนื่องจากเรามีซาฟารีตี้ที่ดีอยู่แล้วเราก็มีการเพิ่มการลงทุนไลน์เครื่องจักรและการลงทุนในโรงงานใหม่ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจส่งออกเติบโตมากขึ้น และเป็นการปรับพอร์ตโฟลิโอสินค้าของเราด้วย 

 

ส่วนในเรื่องของต้นน้ำก็จะเป็นเรื่องของการนำเสนอSolution Providerมากขึ้น เพราะวันนี้เกษตรกรต้องการการปรับตัวไปสู่ระบบการควบคุมความปลอดภัยทางด้านชีวอนามัย เราเองก็มีความพร้อมที่จะตอบโจทย์และช่วยให้เกษตรกรพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง  ซึ่งเรามี budget ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทที่จะใช้ลงทุนต่อเนื่องในทุกๆปี

 

สำหรับการเติบโตปีนี้คาดว่าเราน่าจะเติบโตมากกว่าปี 2021 แน่นอน เนื่องจากปัจจัยบวกที่กลับเข้ามาในหลายๆเรื่องทั้งในสิ่งที่เราลงทุนไว้ และเรื่องของราคาสินค้าหลักๆเพราะฉะนั้นการเติบโตที่มากกว่า 2ดิจิดเป็นไปได้”


นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “POWERING CHANGE” ด้วยการผนึกกำลังทั้งองค์กรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น โดยมีกรอบการขับเคลื่อนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • Supply Chain Resilience: การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อลดผลกระทบ ต่อธุรกิจ และสร้างโอกาสจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและ ปศุสัตว์
  • Digital Transformation: การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งยกระดับสู่เป้าหมาย Smart Transformation อย่างเต็มรูปแบบ ผ่าน 6 module ประกอบด้วย Big Data, Smart CRM, Smart Farm, Smart Factory, Smart Operation และ Smart Quality เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า คู่ค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
  • People Transformation: การปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น High Performing Organization เพื่อพัฒนาทักษะในด้านดิจิทัลและดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้เด่นชัดขึ้น
  • New Business: การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด
  • Sustainability: การร่วมสร้างคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล คู่ขนานกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะใน 4 เป้าหมายหลัก ซึ่งประกอบด้วย การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน สนับสนุนความรับผิดชอบในการผลิตและการบริโภค และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยตรง