แผนขยายการลงทุนของกลุ่มปตท.ในช่วง 5 ปีนี้ (ปี2565-2569) มูลค่ากว่า 9.4 แสนล้านบาท นอกจากจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจใหม่ทั้งพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว ธุรกิจโลจิสติกส์ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการขยายธุรกิจใหม่ของปตท.ด้วยเช่นกัน
นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ของปตท.ถือเป็นแนวรุกใหม่ ที่จะเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนในปลายปีนี้ ซึ่งปตท.จะไม่ได้ไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากใคร
แต่จะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรรวมถึงภาครัฐในพัฒนา การค้าขายโดยใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่านในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น และจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการขนส่งของไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 13% ของGDP หรือราว 2 ล้านล้านบาท ให้มีต้นทุนที่ลดลง ทำให้มีโอกาสในการขนส่ง ค้าขาย และขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น
โดยในส่วนโลจิสติกส์ทางบกนั้น ปตท.จะมุ่งไปที่การให้บริการขนส่งสินค้าในระบบราง เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย-ลาว-จีน ซึ่งปตท.จะร่วมลงทุนกับบริษัทการรถไฟของจีน ที่มีหลายมณฑลหลายราย รวมถึงพาร์ทเนอร์ในไทย ในการเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการขนส่งสินค้า ผ่านแดนจากจีนตอนใต้มายังแหลมฉบัง และจากแหลมฉบังไปจีนตอนใต้
ทั้งหากการรถไฟแห่งประเทศไทย พัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อมขอนแก่น หนองคาย ไปลาวได้แล้วเสร็จ ก็จะยิ่งทำให้เกิดการค้าขายระหว่างจีนและภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปก็จะนำเรื่องเสนอบอร์ดปตท.เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนต่อไป แต่ในเบื้องต้นก็เพิ่งจะมีการเริ่มทดลองบริการขนส่งอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเราพยายามสร้างรายได้ในจีน นำสินค้าจาก ลาวขนไปยังจีน ผ่านระบบราง
ขณะที่โลจิสติกส์ทางอากาศ ปตท.ได้ร่วมมือกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนหรือการร่วมเป็นพันธมิตรใน 3 เรื่อง ได้แก่
1.การให้บริการด้านคลังสินค้า (Warehouse)
2.การขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบิน
3.ให้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้า หรือเครื่องบิน Freighter รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้บริการกับทุกสายการบินที่ต้องการขนส่งสินค้าในประเทศไทยด้วย
ที่ผ่านมาแม้จะเกิดโควิด-19 แต่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศก็ไม่ได้ลดลงเลย ประกอบกับการบินไทยก็มีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการด้านนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดเก็บสินค้า การส่งมอบสินค้าผ่านท้องเครื่องบิน
แต่อาจติดภาระเรื่องเงินทุน หรืออยากมี Statistic Partner เพื่อร่วมขยายธุรกิจ ซึ่งปตท.ก็สามารถเชื่อมโยงสินค้าในกลุ่มปตท.และพันธมิตรให้มาใช้บริการขนส่งสินค้าบนเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายการรุกธุรกิจโลจิสติกส์ทางอากาศของปตท.ด้วย
ในส่วนโลจิสติกส์ทางน้ำปตท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายใน ทลฉ.ในการรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของ ทลฉ.
ได้แก่ โครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ถือหุ้นอยู่ร่วมลงทุนก่อสร้างอยู่ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโลจิสติกส์ด้วย
ส่วนความร่วมมือกับ GULF ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นั้น เบื้องต้นเป็นเรื่องของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีโอกาสได้สิทธิเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย
“เราต้องการพัฒนาการบริการด้านโลจิสติกส์ของปตท.ทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อพัฒนาให้เรามีการให้บริการขนส่งในสินค้าครบทั้ง 3 ด้าน เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าที่ครบวงจร” นายชาญศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. มุ่งพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ปตท. มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า ควบคู่กับการพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จได้
ปตท. จึงมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร (Third Party Logistics) ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ โดย ปตท. และ การบินไทย จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย ให้เติบโตและแข็งแกร่ง พร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics) มีการขยายตัวและมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การบินไทยไม่สามารถทำการบินขนส่งผู้โดยสารได้ตามปกติ แต่คาร์โก้การบินไทย ยังคงให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ รวมทั้งสินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีน
อีกทั้งยังมีบริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าเช่าเหมาลำ (Charter Flight) อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร ลูกค้าสามารถกำหนดเส้นทางตามจุดบินของการบินไทย เลือกเวลาการขนส่งสินค้าตามตารางบินและกำหนดแบบเครื่องบินได้ตามขนาดบรรทุกได้อย่างสะดวกการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศกับ ปตท.ในครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในการยกระดับขีดความสามารถการบูรณาการธุรกิจโลจิสติกส์
โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างครบวงจร ซึ่งการบินไทยมีความเชี่ยวชาญและความพร้อม ทั้งในด้านเที่ยวบินขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Freighter) กิจการคลังสินค้า (Cargo Warehouse) กิจการให้บริการระบบสนับสนุนการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Commercial Platform) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ปตท. เป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและขีดความสามารถสูง ความร่วมมือครั้งนี้
นอกจากเป็นการแสวงหาโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันยังแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการบินไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการขนส่งสินค้าและบริการ รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การผสานความร่วมมือระหว่างองค์กร (Synergy) ในมิติด้านต่างๆ ในอนาคต อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน