หลังจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขายเครื่องบินล็อตใหญ่ โบอิ้ง B747 จำนวน 10 ลำได้พักใหญ่ แต่ยังไม่สามารถนำเครื่องบินส่งมอบได้ เนื่องจากยังติดขั้นตอนที่ต้องให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาอนุญาตให้บริษัทฯ โอนเครื่องบิน ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการบินพลเรือนของบริษัทฯ ที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องไม่โอน จำนำ ให้เช่า หรือให้ยืมอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี
ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บริษัท การบินไทยได้ยื่นเรื่องขอโอนจำหน่ายเครื่องบินมาเมื่อปี 2564 เป็นเครื่องบินโบอิ้ง B 737-400 จำนวน 1 ลำ ต่อมายื่น เครื่องบินโบอิ้ง B 747-400 จำนวน 10 ลำ รวม เป็น11 ลำ ซึ่งเหตุผลที่ยังไม่สามารถอนุมัติโอนจำหน่าย โบอิ้ง B 737-400 ลำแรก ที่ยื่นมาก่อนได้ เนื่องจาก พบว่ารายละเอียดเอกสารยังไม่ครบถ้วน
เช่น มีการทำสัญญาขายก่อนที่จะเข้าแผนฟื้นฟู จึงมีประเด็นข้อสงสัยเพราะขณะนี้การบินไทยต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูดังนั้น จะต้องมีการยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นของรายละเอียดสัญญามีการลงนามอย่างไร วงเงินเท่าไร และการชำระเงินเป็นอย่างไร ซึ่งเอกสารด้านการเงินที่ยื่นมาเป็นสัญญาค้ำประกันซองของเครื่องบินอีกลำ
ดังนั้น จึงแนะนำให้การบินไทย ยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องการจำหน่ายเครื่องบินว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยศาลได้วินิจฉัยมาในวันที่ 8 มีนาคม 2565 ว่า คณะบริหารแผนฟื้นฟู มีอำนาจในการจำหน่ายเครื่องบิน และการบินไทยได้นำหนังสือที่เป็นคำวินิจฉัยของศาล ยื่นต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกพท.ได้เสนอ เรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม ในวันที่ 16 มีนาคม 2565 เพื่อพิจารณาอนุญาตให้บริษัทฯ โอนเครื่องบิน ซึ่งเมื่อตรวจสอบเอกสารขั้นตอนว่าถูกต้อง ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามอนุมัติ โอน (ขาย) โบอิ้ง B 737-400 จำนวน 1 ลำ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565
ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง B 747-400 จำนวน 10 ลำ นั้น การบินไทยได้เสนอขออนุมัติโอน แต่พบว่ามีเอกสาร 5 ฉบับ ซึ่งยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้ โดยเมื่อต้นเดือนเม.ย. นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงการบินไทย เพื่อให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งเอกสารการโอนจำหน่ายเครื่องบินได้แก่ สัญญาซื้อขาย ,เอกสารการชำระเงิน ,บัญชีทรัพย์สินที่ยื่นในแผนฟื้นฟู เป็นต้น
“เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้ โดยบอกว่า ทางการบินไทยอยากให้นายทะเบียนพิจารณาและลงนามอนุมัติ โอน (ขาย) ให้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2565 เนื่อจากผู้ซื้อเครื่องบินเร่งรัดมา ซึ่งตนได้รายงานข้อเท็จจริงกับท่านนายกฯไปแล้วหลายครั้ง ว่า หากการบินไทย จัดส่งเอกสารมาให้อย่างครบถ้วนถูกต้อง พร้อมอนุมัติทุนที แต่ถ้าเซ็นไป ทั้งที่เอกสารไม่ครบถ้วนตนในฐานะนายทะเบียนก็มีความผิด”
นายศักดิ์สยาม ยืนยันว่านายทะเบียนไม่มีอำนาจในการถ่วงการขายเครื่องบินของการบินไทยแต่อย่างใด หน้าที่ของนายทะเบียนโอนเครื่องบิน ไม่ต่างจากการซื้อรถยนต์ ผู้ซื้อขาย ตกลง ชำระเงินครบ ออกใบเสร็จ แสดงหลักฐานการชำระเงิน ทำการโอนได้ และไม่ได้ไปดูว่า จะขายราคาเท่าไร จะถูกหรือแพงด้วย และตัวนายกฯ เป็นห่วงการบินไทยเพราะถือว่าเป็นสายการบินของประเทศไทย ตนเองก็อยากให้การบินไทยสามารถดำเนินการฟื้นฟูได้สำเร็จ แม้ว่าการบินไทยจะไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมแล้ว แต่ถือเป็นบริษัทหนึ่งที่ประกอบการสายการบิน จะต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาการโอน (ขาย) อากาศยาน นั้น ไม่ได้มีเฉพาะเครื่องบินของ การบินไทยฯ เท่านั้น ทุกสายการบินของไทยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการครอบครองอากาศที่จดทะเบียนในไทยต้องยื่นเช่นกัน อย่างเช่น สายการบินแอร์เอเชีย ก็เสนอมา ซึ่งตนในฐานะนายทะเบียน มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการโอน (ขาย) หากเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง ก็ดำเนินการอนุมัติให้ไปตามหน้าที่
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กล่าวว่า การบินไทย ได้ยื่นคำขอ พิจารณาอนุญาตให้บริษัทฯ โอนเครื่องบิน รวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นเครื่องบิน โบอิ้ง B 737-400 จำนวน 1 ลำ ซึ่งรมว.คมนาคมได้ลงนามอนุมัติแล้ว เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ส่วนชุดที่ 2 เป็นเครื่องบินโบอิ้ง B 747-400 จำนวน 10 ลำ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การบินไทยได้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม มาแล้ว ซึ่งกพท.นำเสนอต่อไปยังกระทรวงคมนาคม พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการอนุมัติเรื่องการขาย(โอน) เครื่องบินของ การบินไทยนั้น เนื่องจากมีกฎหมายล้มละลายด้วยเข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน สิ้นสงสัย ไม่เหมือนสายการบินอื่น ๆ ที่ไม่มีเรื่องการฟื้นฟู ซึ่งเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว เชื่อว่า หลังหลังจากนี้ การพิจารณา จะใช้เวลาไม่นาน