หลังกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเรียนเต็มรูปแบบภาคเรียนที่ 1/2565 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนต้องเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมในการจัดซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน สื่อการเรียนอื่นๆ ปลุกให้ตลาดสินค้านักเรียนกลับมาคึกคักขึ้น หลังจากที่ต้องชะลอตัวไปนานกว่า 2 ปี จากวิกฤตโควิด
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดสินค้าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนในปีการศึกษานี้ ผู้ประกอบการยังไม่มีการปรับขึ้นราคาไปจากเดิม เนื่องจากกรมการค้าภายในได้มีมาตรการตรึงราคาสินค้า เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างเต็มที่ ช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองในช่วงเวลานี้
อย่างไรก็ดีบรรยากาศการซื้อสินค้าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนโควิด-19 ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างจากปัจจุบัน เนื่องจากก่อนโควิด-19 ลูกค้าจะนิยมออกมาเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองเป็นจำนวนมาก บรรยากาศจึงมีความคึกคัก แต่ปัจจุบันทางห้างได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านหลากหลายช่องทางรวมถึงช่องทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า จึงมีลูกค้าบางส่วนซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แทนเพราะสะดวกและรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง
ทั้งนี้คาดว่าการจับจ่ายจะฟื้นตัวขึ้นกว่าช่วงที่มีโควิด-19 โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ใกล้เคียงกับ 2 ปี ก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ มียอดขายเพิ่มขึ้นมาก จากการเรียนการสอนในปัจจุบันมีทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ อุปกรณ์เสริมเหล่านี้จึงมีความจำเป็นสำหรับนักเรียน และเนื่องจากผู้ปกครองไม่ได้ซื้อสินค้ากลุ่มชุดนักเรียนมานานกว่า 2 ปี เมื่อมีการประกาศเปิดเรียนจึงต้องซื้อสินค้ากลุ่มนี้ให้กับบุตรหลานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้การจับจ่ายฟื้นตัวขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
ด้านนายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า นันยางเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเรียนที่โรงเรียนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากยอดผู้ติดเชื้อลดลงและกำลังพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่น ทำให้เชื่อมั่นว่าตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนในปีนี้
จะกลับมาคึกคักขึ้นจากมูลค่าตลาดรองเท้านักเรียน 5,000 ล้านบาทในช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งวิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้ผู้เล่นลดน้อยลง ดังนั้นนันยางซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดราว 43% ในปัจจุบันต้องวางการตลาดเชิงรุก เพื่อรองรับกำลังซื้อหลังการเปิดประเทศไว้ในระยะยาว และเชื่อมั่นว่าน่าจะขยายส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้นันยางได้วางแผนผลิตสินค้าเก็บสต็อกไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 โดยพิจารณาถึงความต้องการสินค้าหรือความจำเป็นในการใช้สินค้าและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับควบคู่กันไป
เพราะในสภาวะเศรฐกิจที่ยังไม่มั่นคง การประหยัด การควบคุมค่าใช้จ่าย ถือเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในยุคโควิด-19 แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือผู้บริโภคยังคงมองหาสินค้าคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล แต่อาจเพิ่มเติมเรื่องความทันสมัยเข้าไปด้วย จึงทำให้นันยางมองจุดเติมเต็มในสินค้าเดิมที่ลูกค้าเคยใช้แล้วชอบและซื้อซ้ำ มาเป็นจุดต่อยอดในการออกสินค้าใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด
“ปีนี้นันยางจึงได้นำกระแสรองเท้าผ้าใบหัวผ้าสีขาวที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากเด็กผู้หญิงในอดีต กลับมาปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นและเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยอีกครั้ง โดยจัดวางรองเท้าผ้าใบสีขาว เพิ่มเข้าไปในกลุ่มรองเท้าผ้าใบรุ่น ZAFARI ที่ปัจจุบันมีวางขายแค่ 2 สีคือ ดำ กับ น้ำตาล การเพิ่มสีขาวเข้ามาในตลาดสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารุ่นใหม่ที่ต้องการใส่รองเท้าแบบเรียบง่าย สไตล์ธรรมดา สวมใส่สบายได้ทุกวัน ทุกเทศกาล และทุกกิจกรรมที่ต้องการ”
นายจักรพล กล่าวอีกว่า อัตราการลดลงของเด็กเกิดใหม่ ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่นันยางเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลรุนแรงนัก เพราะตลาดรองเท้าผ้าใบยังคงมีขนาดที่ใหญ่ ทั้งยังมีพื้นที่ให้ขยายตลาดเพิ่มได้ในทุกมิติ ซึ่งทางออกของรองเท้าผ้าใบยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ขายได้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
เช่น นักศึกษา คนทำงาน นักกีฬา หรือคนทั่วไปที่ชื่นชอบในแบรนด์สินค้านันยาง รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างกระแสทางการตลาดให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ช่วยทำให้เกิดการขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างยิ่งขึ้น
หน้าที่ 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565