ปาดเหงื่อ ต้นทุนพุ่ง ‘ธุรกิจอาหาร’ จัดทัพ-ปรับแผนสู้

15 พ.ค. 2565 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2565 | 21:31 น.

ต้นทุนพุ่ง “ธุรกิจอาหาร” อ่วมแบกรับภาระหนัก “เบทาโกร” คุมเข้มบริหารจัดการ เดินหน้าลงทุนเพิ่มซัพพลาย หวังรองรับดีมานด์ทั่วโลก “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ปรับแผนบาลานซ์ธุรกิจรองรับต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่งพุ่ง จ่อออกเมนูใหม่แพลนต์เบสทั้งอาหาร-เครื่องดื่ม-อาหาร

อุตสาหกรรมอาหารเมืองไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ค่าขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความท้าทายทางด้านต้นทุนและการจัดการอย่างยิ่ง

 

ขณะที่ในอีกด้านดีมานด์ที่เริ่มกลับมาจากจากภาวะความขัดแย้งในยุโรป การฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป รวมถึงประเทศไทยเองย่อมส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียว วันนี้จึงเห็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเริ่มขยับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เบทาโกร

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาราคาเนื้อสัตว์หรือกลุ่มอื่นๆ โดยรวมถือว่าปรับตัวขึ้นมากพอสมควร เช่นสุกร ซึ่งซัพพลายหดไปพอสมควรจากโรคระบาด ส่วนไข่ไก่ก็มีประเด็นเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะไก่เป็นสัตว์ที่เซ็นซิทีพต่อเรื่องต้นทุนพอสมควร ปัจจุบันราคาไข่คละอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างสูง

              

“เรื่องของวัตถุดิบเป็นดีมานด์โลก แน่นอนว่าตัวกระตุ้นหลัก ตอนนี้ก็เป็นความขัดแย้งในยุโรปทำให้มีการช็อตซัพพลาย ค่อนข้างเยอะ และเมื่อเรานำค่าปัจจัยพลังงานและโลจิสติกส์บวกเข้าไปก็ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเฟด และปัจจัยต้นน้ำของการผลิตการเกษตรทั้งปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ โดยรวมต้นทุนปรับสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7-8 %

              

ทั้งนี้เชื่อว่าต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงอยู่แล้วจะไม่กระโดดขึ้นไปอีก เพราะว่าตอนนี้ผู้ประกอบการมีการสต๊อกวัตถุดิบได้พอสมควรและเมื่อผ่านช่วงไตรมาส 3 ไปแล้วก็จะเริ่มเข้าฤดูการออกของข้าวโพดใหม่ เราก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าวันนั้นเองราคาของ world supply กับ demand จะ เป็นอย่างไร แต่การผลิตข้าวโพดน้อยลงเยอะมาก เพราะเกษตรกรไม่อยากผลิตเพราะเมล็ดพันธุ์แพง ปุ๋ยแพง ก็จะมีผลต่อซัพพลายแล้วก็อาจจะต้องนำเข้าข้าวโพดมากขึ้น

ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง               

สำหรับเบทาโกร ประชากรทางด้านสุกรไม่ได้ลดลงเลยแต่มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพราะบริษัทยังสามารถสร้างวงจรการเพิ่มของพ่อแม่พันธุ์ไปถึงหมูขุนได้อย่างต่อเนื่อง จากระบบการจัดการไบโอซีเคียวริตี้นอกจากนี้บริษัทชัดเจนในการพัฒนาให้กลับมาผลิตสุกรให้มากขึ้น แต่สุกรเป็นสัตว์ใหญ่ใช้เวลา

 

เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเริ่มต้นตั้งแต่การเพิ่มปู่-ย่าพันธุ์ พ่อ-แม่พันธุ์และเพิ่มหมูขุน ซึ่งจะต้องใช้เวลา 1.5-2 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังมีการลงทุนในเรื่องของการขยายฟาร์มโดยเฉพาะฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือหมูรวมทั้งโรงงานแปรรูปสุกรไก่หรือโรงคัดไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท”

              

ด้านนางนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไปเดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้นทุนวัตถุดิบยังมีการปรับตัวสูงขึ้นทั้ง ราคาเนื้อหมู ไก่ รวมไปถึงวัตถุดิบนำเข้าอย่างแซลมอน นอกจากนี้ต้นทุนทางด้านค่าขนส่งเรือก็ปรับตัวสูงขึ้นตามค่าน้ำมัน

 

ซึ่งต้องยอมว่ามีผลกระทบต่อร้านเนื่องจากทางร้านให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเมล็ดกาแฟ ซึ่งนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียโดยทางเรือแบบควบคุมอุณหภูมิ 25ํ เพื่อคงรสชาติและความสดใหม่ของเมล็ดกาแฟจากโรงคั่ว ในช่วงแรกที่ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นบริษัทขยับราคาเครื่องดื่มและอาหาร ประมาณ 10 บาท

นงชนก สถานานนท์               

เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้ เดอะ คอฟฟี่ คลับ ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มและอาหารอีกและจะยืนราคาปัจจุบันนี้ให้ได้นานที่สุด เนื่องจากต้องการเข้าถึงคนไทยมากขึ้นโดยอัดโปรโมชั่นให้เยอะที่สุดเพื่อกระตุ้นการบริโภคของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชันจับคู่เครื่องดื่มกับเมนูอาหาร

 

เมนูเครื่องดื่ม 1 แถม 1 หรือส่วนลดเมื่อใช้จ่ายผ่านพันธมิตรที่ร่วมรายการ เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด หากมองในภาพรวมจะเห็นว่าการใช้จ่ายของลูกค้าไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามา การใช้จ่ายจึงสูงขึ้นไปโดยปริยายเนื่องจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติจะมากกว่าคนไทยประมาณ 50 บาทต่อคน

              

นอกจากนี้ต้นทุนทางด้านค่าเช่า ก็นับเป็นภาระหนักสำหรับร้านอาหาร โดยเฉพาะเดอะ คอฟฟี่ คลับ ที่มีกว่า 60 สาขาทั้งในกรุงเทพ และหัวเมืองท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยเจอกับโควิดทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตซึ่งมีมากกว่า 20 สาขา ต้องยอมปิดสาขาเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น

              

“ตอนนี้เดอะ คอฟฟี่ คลับเหลืออยู่ 31 สาขา จาก 60 สาขาซึ่งอยู่ในภูเก็ต 20 สาขา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านเราปิดสาขาภูเก็ตถาวรไปกว่า14 สาขา เพราะถ้าเราไม่ปิดสาขาเราจะต้องแบกภาระในเรื่องของค่าเช่าด้วย ส่วนในกรุงเทพฯยังไม่มีการปิดสาขา และในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเราได้ปรับแผนธุรกิจหันเจาะตลาดคนไทยมากขึ้น

เดอะ คอฟฟี่ คลับ

เมื่อก่อนสัดส่วนลูกค้าจะเป็นชาวต่างชาติ 70% คนไทย 30% แต่ตอนนี้สลับกัน คนไทย 70% ต่างชาติ 30% ในอนาคตเราต้องการให้สัดส่วนขยับเป็นคนไทย 60% ต่างชาติ 40% หวังว่านักท่องเที่ยวที่กลับรอบนี้จะทำให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้น”

              

สำหรับแผนการปรับตัว ร้านมีการปรับผังเมนูทุกๆ 2 เดือนโดยบาล๊านซ์เมนูให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ กาแฟ 60% อาหาร 40% โดยมีการเพิ่มเมนูใหม่ทั้งส่วนของแพลนต์เบสกาแฟ เพิ่มเมนูอาหารเช้า การเพิ่มเมนูเข้าไปแต่ละครั้งเราจะถอดเมนูที่มีมานานและยอดขายไม่ดีออก ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้จะเปิดตัวเมนูใหม่ๆ รวมทั้งเมนูแพลนท์เบสด้วย

              

ขณะที่การขยายสาขาในอนาคตจะเน้นโลเคชั่นที่เข้าถึงคนไทย และต้องสามารถขายได้ทั้งเครื่องดื่ม อาหารเช้า take away และ delivery โดยในปีนี้มีแพลนเปิดสาขาในทำเลใหม่ 5 สาขา โดยรวมสิ้นปีนี้เดอะ คอฟฟี่ คลับจะมี 37 สาขาและตั้งเป้า สร้างรายได้เพิ่มจากปีที่แล้ว 2 เท่าหรือประมาณ 600 ล้านบาท

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,783 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565