อสังหาฯกระอัก แบกต้นทุนหุ้นกู้พุ่ง

23 เม.ย. 2565 | 00:00 น.

ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ กดดันเงินไหลออกจากตราสารหนี้ ส่งผลเงินบาทอ่อนค่าปลายปี 65 จับตาหุ้นกู้ 5.66 แสนล้านบาท ครบกำหนดปีนี้ แบกรับต้นทุนเพิ่ม ตาม Yield Curve ที่ขยับขึ้น กสิกรไทยชี้ บอนด์ยีลด์สหรัฐหมด ปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve

ปรากฏการณ์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี ขยับขึ้นมาแตะ 2.88% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นควบคู่กับการปรับลดงบดุล เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อ สร้างแรงกดดันต่อการส่งทุนทั่วโลก

 

ขณะที่ Bond Yield พันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี อยู่ที่ 2.68% โดยปรับขึ้นมาแล้ว 0.78% จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 1.90% ส่วน Bond Yield 2 ปี ขยับขึ้นมา 0.43% เป็น 1.08% จาก 0.66% ช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิด  (Yield Curve) อายุ 10 ปีสูงกว่า 2 ปี ประมาณ 0.40% (คำนวณจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี ที่ 2.85% และ 2 ปีที่ 2.45% เมื่อวันที่ 5 เมษายน) สะท้อนว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐไม่กลับไป Inverted Yield Curve แล้ว หลังจากปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนบอนด์ยีลด์อายุ 2 ปีปรับตัวสูงกว่าบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ขณะที่บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปีสูงกว่าอายุ 2 ปี 1.59%

          

อย่างไรก็ตาม บอนด์ยีลด์ไทยปรับเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ แต่บอนด์ยีลด์ระยะสั้นของไทยยังอิงอยู่กับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐและบอนด์ยีลด์ขยับนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยควรจะเป็นเงินทุนไหลออก แต่ปัจจุบันยังคงมีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน    

“ล่าสุดมีเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เพียง 31,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่า ไหลเข้าปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับทั้งปีที่มีฟันด์โฟลไหลเข้ามากว่า 165,700 ล้านบาท ดังนั้นหลังจากนี้เป็นต้นไปยังต้องจับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ” นางสาวกาญจนา กล่าว

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒมนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวถึงส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทยประมาณ 2-3% ว่า  ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจไทยนั้นไม่มาก เพราะบริษัทหรือธุรกิจไทยมีเพียงส่วนน้อยที่กู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และบางรายก็มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศอยู่แล้ว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒมนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)

ในแง่ของกองทุนอาจจะมีความเสี่ยง 2 ด้านคือ กองทุนที่เคยออกไปลงทุนต่างประเทศอาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการเฮดจ์ (Hedge) ค่าเงิน แต่กองทุนที่ไม่ได้เฮดจ์ค่าเงินไว้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าก็สามารถทำกำไร แต่คนลงทุนที่ได้เงินผลตอบแทนค่อนข้างแย่จะออกไปลงทุนเองทำให้เกิดความผันผวนสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงตราสารหนี้ โดยเฉพาะรายที่ไม่เฮดจ์

 

ส่วนความเสี่ยงที่ 2 คือ หากมองไปข้างหน้า ส่วนต่างดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยหลักที่จะเห็นเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตร ซึ่งจุดที่ต้องระวัง ราวปลายปีนี้ อาจจะเห็นผลตอบแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐขยับเป็น 3%

 

“ในมุมนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย อาจทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้เอกชนสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่จะครบอายุในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่กำลังซื้อในตลาดมีจำกัด เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เคยออกหุ้นกู้ดอกเบี้ย 7% รอบหน้าต้นทุนจะแพงขึ้นอีก แต่ที่ต้องคิดเมื่อดอกเบี้ยต่างกันจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ภาครัฐควรจะต้องทำอะไรเพื่อมิให้เงินบาทอ่อนไปมาก” นายจิติพล กล่าว

หุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2565-2568

รายงานข่าวจากสมาคมตราสารหนี้ไทยระบุว่า ช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 65 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดอายุรวม 566,571 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ Investment grade  493,792 ล้านบาท คิดเป็น 87% ของมูลค่าที่คราบกำหนด และเป็นหุ้นกู้ High Yield 13% หรือ 72,779 ล้านบาท โดยที่หุ้นกู้กลุ่ม High Yield ที่จะครบกำหนดกว่า 4.6% อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่พบความเสี่ยงการเกิด inverted yield curve ในตลาดตราสารหนี้ไทย ที่จะเป็นสัญญาณของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในระยะ 3 ปีข้างหน้า จากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 และ 2 ปี ยังห่างกันค่อนข้างมาก ณ มีนาคม 2565 อยู่ที่ 1.43%

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 และ 2 ปี ไม่เคยลงไปติดลบ เคยลงไปต่ำสุดที่ 0.01% ณ สิงหาคม 2554 จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดราคาน้ำมันแพง และล่าสุดเมื่อ ณ สิงหาคม 2562 ของไทยที่ลงไปต่ำที่ 0.04% จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กดดันการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2565