เปิด 4 มาตรการรับมือความมั่นคงทางด้านอาหารของไทย

29 พ.ค. 2565 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 10:54 น.

สศก. เตรียมพร้อมรับมือความมั่นคงทางด้านอาหาร ประกาศ 4 นโยบายอาหารของประเทศ พร้อมนำ BIG DATA ช่วยวางแผนบริหารจัดการด้านอาหาร และจัดการการกระจายสินค้าอาหารไปสู่มือผู้ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหาร ทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ 4 ด้าน 

 

คือ1. ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ 2. ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 3. ด้านอาหารศึกษา คือการให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และ 4. ด้านการบริหารจัดการ เช่น กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ

 

 

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนบริหารจัดการด้านอาหารได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์เพื่อสามารถบริหารจัดการการกระจายสินค้าอาหารไปสู่มือผู้ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ฐานข้อมูลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการสินค้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารทั้งในภาพรวมและระดับพื้นที่ และในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ก็คือ ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar)เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นสำหรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านอาหารทั้งระบบ 

 

ให้เป็นต้นแบบของการจัดระบบการบริหารจัดการข้อมูลด้านอาหารตลอดห่วงโซ่ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลการแปรรูป การตรวจสอบย้อนกลับ คุณภาพและความปลอดภัย การกระจายสินค้า ความต้องการและระบบตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ

 

นอกจากนี้ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบกรอบการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร รวมถึงรับผิดชอบการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร จะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารAPEC