สธ.คุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารหนุนความมั่นคงอาหารโลก
กระทรวงสาธารณสุข สร้างความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สุขภาพแข็งแรง สร้างความเชื่อมั่นประชาชนและนานาชาติ สนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลและความมั่นคงด้านอาหารของโลก
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันอาหารโลก ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยมีประเด็นรณรงค์ในปีนี้ ว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาหารและการเกษตรต้องเปลี่ยนแปลงตาม (Climate is changing. Food and agriculture must too.) เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินการสู่เป้าหมายไม่มีผู้อดอยากในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตอาหารเพียงพอสำหรับคนไทย และยังส่งออกไปยังประชากรโลกได้ แต่ยังมีปัญหาในกลุ่มที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบถ้วน และมีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหาร เกิดเป็นโครงการในพระราชดำริด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง สร้างความเชื่อมั่นประชาชนและนานาชาติ สนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงด้านอาหารของโลก ร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาหารที่จำหน่ายในประเทศมีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ได้มาตรฐานสากลสามารถส่งออกวัตถุดิบ ผักผลไม้ และอาหารแปรรูปไปจำหน่ายต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า ในการสร้างความปลอดภัยอาหาร ได้ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร ณ สถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ โดยมีหน่วยเคลื่อนที่ความปลอดภัยด้านอาหารทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 13 ศูนย์ ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายเช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น ทำการวิเคราะห์การปนเปื้อนจุลินทรีย์และสารเคมีด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น 6 ชนิด ได้แก่ ยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ ฟอร์มัลดีไฮด์ สารกันรา สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง ปีละกว่า 96,000 ตัวอย่าง พบแนวโน้มการปนเปื้อนในยาฆ่าแมลง และบอแรกซ์ลดลง ส่วนฟอร์มัลดีไฮด์ สารกันรา สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง พบแนวโน้มการปนเปื้อนเพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อติดตามตรวจสอบเฝ้าระวัง ให้ความรู้ และจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ได้พัฒนาสถานประกอบการที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีในการผลิตขั้นต้น (Primary GMP) ได้ให้คำปรึกษาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และหลักเกณฑ์ Primary GMP สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที และอาหารทั่วไป เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ก้าวไกล ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยอีกด้วย
2.พัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของประเทศ ให้บริการตรวจวิเคราะห์สารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ผักผลไม้ได้มากกว่า 500 ชนิด รวมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านอาหารในส่วนกลางและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง พัฒนาต้นแบบโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็ก และครัวโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวด้วยระบบ HACCP รวมทั้งต้นแบบตลาดค้าส่ง ห้างค้าปลีก และแหล่งรวบรวมผักผลไม้ให้มีระบบและห้องปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยสินค้าในตลาด และร่วมเป็นหน่วยประเมินความเสี่ยงวัตถุเจือปนอาหารหรืออาหารใหม่ก่อนที่จะผลิตออกจำหน่าย นอกจากนี้ มีการวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยอาหาร และได้ศึกษาการได้รับพิษจากการบริโภคอาหารของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่าได้ผลใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าคนไทยมีความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนที่อาจมีตกค้างอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวัน โดยจะศึกษาในปี 2560 อีกครั้ง
3.เป็นเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ โดยมีสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัยเป็นผู้ประสานงานหลักกับ 181 ประเทศสมาชิกเครือข่าย และ 13 หน่วยงานสมาชิกเครือข่ายในประเทศ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารด้านความปลอดภัยอาหารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ www.foodsafety.moph.go.th