ผู้สื่อข่าวรายงาน (31 พ.ค. 2565) จุงหวา เทเลคอม (Chunghwa Telecom) และโรงพยาบาลธนบุรี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” ตอบรับนโยบาย Medical Hub of Asia(ศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งเอเชีย) ของรัฐบาลที่ประกาศไว้เมื่อปี 2547 มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการให้บริการทางการแพทย์ระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ทั้งนี้ จุงหวา เทเลคอม และ โรงพยาบาลธนบุรี ได้ร่วมสานต่อความร่วมมือการในการสร้างหอผู้ป่วยอัจฉริยะ POC ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่แห่งการใช้โปรแกรมแอพพลิเคชั่นโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย
สำหรับโรงพยาบาลธนบุรี เป็นโรงพยาบาลในเครือ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เป็นเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลในเครือในประเทศทั้งหมด 18 แห่ง ปัจจุบันมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์กว่า 350 คน นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการให้บริการในโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ และนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ เริ่มจากความร่วมมือ “หอผู้ป่วยอัจฉริยะ” (Smart Ward) โดยมี จุงหวา เทเลคอม ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT เป็นผู้นำเข้าแอพพลิเคชั่นนวัตกรรมใหม่นี้เข้ามาเพื่อช่วยยกระดับโรงพยาบาลธนบุรีให้เป็นต้นแบบมาตรฐานโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2564 จุงหวา เทเลคอม ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ต่าง ๆ อาทิ Imedtac ไต้หวัน และ บริษัท เอ็มดี เฮลท์แคร์ จำกัด ในการนำโซลูชั่นหอผู้ป่วยอัจฉริยะของไต้หวันมายังโรงพยาบาลธนบุรี เช่น เคาน์เตอร์พยาบาลอัจฉริยะ, เครื่องมือวัดสัญญาณชีพแบบ All-in-one, ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ, E-paper แสดงข้อมูลข้างเตียง และระบบตรวจจับพฤติกรรมของผู้ป่วย ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระงาน ทำให้มีเวลาดูแลผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยรักษาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาล
จุงหวา เทเลคอม ยังได้วางแผนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น IoMT, เครือข่าย5G, Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ AI และระบบคลาวด์ พัฒนาโซลูชั่นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการโรงพยาบาล และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านบริการให้สูงมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า การรวบรวม จัดระเบียบ และส่งต่อข้อมูลที่ดี เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้นทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย เป็นมิตร และการเชื่อมต่อที่ครอบคลุมในเทคโนโลยีสารสนเทศ มากกว่าการนำเทคโนโลยีแปลกใหม่แต่กลับทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ซับซ้อนยุ่งยากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของทางโรงพยาบาลฯมีเวลาและกำลังในการดูแลผู้ป่วยได้น้อยลง
ด้านนางอู๋ เสวียหลาน ประธานกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ จุงหวา เทเลคอม และประธานบริษัท จุงหวา เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการผลักดันนโยบายให้โรงพยาบาลเข้าสู่ระบบดิจิทัลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงพยาบาลในประเทศต่าง ๆ จึงต้องการโซลูชั่นการให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบรับกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ทั้งนี้โซลูชั่นโรงพยาบาลอัจฉริยะของ จุงหวา เทเลคอม ครอบคลุมฟีเจอร์บนคลาวด์ ระบบดิจิทัล และระบบสารสนเทศ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านการพัฒนาตลาดทางการแพทย์ได้อย่างแท้จริง และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อพลิกโฉมใหม่แห่งการให้บริการทางการแพทย์อัจฉริยะ