กัญชา จาก‘พืชเสพติด’ สู่‘พืชควบคุม’ ปลูก-ขาย เสรีจริงหรือ?

10 มิ.ย. 2565 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 15:18 น.

ปลดล็อก “กัญชาเสรี” จริงหรือ? แนะภาคเอกชน ประชาชน ทำความเข้าใจกฎหมายกัญชา หลังพลิกภาพจาก “พืชเสพติด” สู่ “พืชควบคุม” ขณะที่ภาคธุรกิจต้องมุ่งไปที่ปริมาณและคุณภาพ

หลังกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ทำให้ใครๆ ก็สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแต่จดแจ้งนั้น

 

แม้จะเป็นการปลดล็อกกัญชาเสรี แต่ยังต้องมีกฎหมายควบคุม ทั้งร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ซึ่งล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติวาระแรกเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป

กัญชา จาก‘พืชเสพติด’ สู่‘พืชควบคุม’ ปลูก-ขาย เสรีจริงหรือ?

ขณะเดียวกันยังต้องมีกฎหมายควบคุมเรื่องขออนุญาตปลูก การนำ เข้าเมล็ดพันธุ์ การโฆษณา การห้ามผู้ขับขี่รถสาธารณะใช้กัญชา รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีอายุตํ่ากว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์สตรีให้นมบุตร รวมไปถึงการนำไปสกัดแปรรูป ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่สนใจจะปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน

 

หรือจำหน่ายในชุมชน เป็น SMEs หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะนำไปผลิตแปรรูป สารสกัดเป็นอาหาร เครื่องดื่มเครื่องสำอาง ตลอดจนบริการทางการแพทย์แผนไทย ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพราะการปลดล็อก “กัญชาเสรี” ไม่ใช่ว่า ใครจะทำอะไรก็ได้

 

“พรประสิทธิ์ สีบุญเรือง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท 88 แคนนาเทค จำกัด ซึ่งศึกษาเรื่องของสมุนไพร กัญชากัญชง มาต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิด “เสรี กัญชา” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะยกกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดประเภท 5 มีผลวันที่ 9 มิถุนายนนั่นหมายความว่า กัญชง กัญชา หลุดจาก“พืชเสพติด” มาเป็น “พืชควบคุม
กัญชา จาก‘พืชเสพติด’ สู่‘พืชควบคุม’ ปลูก-ขาย เสรีจริงหรือ?

เพราะยังมีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ประเทศที่ปลูกกัญชง กัญชา จะต้องรายงานให้กับ WHO ของสหประชาชาติเพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยจะปลดล็อคให้หลุดจากพืชเสพติดจะต้องมีระบบและวิธีรายงานว่าในแต่ละปีมีการปลูกในประเทศเท่าไร

 

เมื่อกัญชง กัญชากลายเป็นพืชควบคุมหมายความว่าถ้าหากประชาชนจะปลูกที่บ้านสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องขอจดแจ้งสำหรับประชาชนโดยเข้าไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้ปลูกตามสัดส่วนของ บุคคลที่อยู่ในบ้านและผลผลิตที่ได้จะต้องใช้ภายในบ้านเท่านั้น ห้ามหยิบออกมาใช้นอกบ้าน

กัญชา จาก‘พืชเสพติด’ สู่‘พืชควบคุม’ ปลูก-ขาย เสรีจริงหรือ?

หากนำออกมาเป็นพ้นเขตรั้วบ้านก็จะมีกฎออกมาบังคับ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมกัญชากัญชง เงื่อนไขยังคงเหมือนเดิมคือ ต้องขอใบอนุญาตผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” เหมือนเดิมตามเงื่อนไขของ อย. ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น

 

แต่ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือเมื่อก่อนในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์พืชเสพติดผู้ที่จะอนุญาตให้นำเข้าได้ก็คืออย. กระทรวงสาธารณสุข แต่หลังจากวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เมื่อหลุดออกจากพืชเสพติด การขออนุญาตนำเข้าจะไปตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงการเกษตรฯ แต่เรื่องของการจดแจ้งและ ขอใบอนุญาตยังเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม เพราะจะต้องรายงานจำนวนเท่าไรในประเทศและผลผลิตที่ได้เป็นอย่างไร

           

“สำหรับคนที่อยากจะปลูกหลังทำเรื่องจดแจ้งไปแล้วประเด็นก็คือจะไปเอาเมล็ดมาจากไหน ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ไม่มีคำตอบเบื้องต้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องประกาศว่าจะแจกจำนวน 1 ล้านเมล็ดตามขั้นตอน แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องนำเข้าเหมือนเดิมเพราะตอนนี้เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยยังไม่มีสายพันธุ์ที่จะปลูกเอาเมล็ดได้ และกรมวิชาการเกษตรก็ยังคงพัฒนาอยู่”

 

ขณะที่ “เอกภัทร พรประภา” ผู้ถือหุ้น บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (GTG) กล่าวแสดงความ คิดเห็นว่า นับจากวันที่ 9 มิ.ย.นี้ หลังจากเปิดเสรีให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาที่บ้าน คาดว่าจะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจเพราะในการปลูกเชิงธุรกิจจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญทั้งจะต้องมีวอลลุ่มสูง และคุณภาพต้องได้ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งสายพันธุ์ของ GTG ที่ใช้คือสายพันธุ์ RAKSA ได้รับการวิจัยมานานเพื่อให้ได้รับสายพันธุ์ที่ดีที่สุด

กัญชา จาก‘พืชเสพติด’ สู่‘พืชควบคุม’ ปลูก-ขาย เสรีจริงหรือ?

“กัญชาเป็นสิ่งที่ทุกคนปลูกได้แต่คุณภาพที่ได้จะเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง เหมือนกับการปลูกผลไม้ แต่จะปลูกอย่างไรเพื่อจะได้ส่วนที่เป็นผลผลิตที่ใช้งานได้และมีราคาสูงสุด ตอนนี้ที่เราใช้คือเราใช้สาร CBD ก็ต้องดูว่าสายพันธุ์ไหนให้ CBD เยอะที่สุดและระหว่างการเติบโตจะทำอย่างไรให้แข็งแรง ได้ผลผลิตดีที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุดเพราะว่าในแต่ละเซอร์เคิลจะต้องมีเวลาของมัน”