ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ฉุดความเชื่อมั่นตลาดบุฟเฟ่ต์-แฟรนไชส์

21 มิ.ย. 2565 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 23:27 น.

ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” จากวอยเชอร์บุฟเฟ่ต์ 199 บาทล่องหน เชิดเงินหนี ฉุดความเชื่อมั่นตลาดร้านบุฟเฟ่ต์ ธุรกิจแฟรนไชส์ กูรูชี้ อย่าหลงระเริงแค่ราคาถูก ผลตอบแทนสูง

เป็นกรณีศึกษาที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจร้านอาหารอย่างหนัก สำหรับร้านบุฟเฟ่ต์ดัง ที่เปิดขายวอยเชอร์ (e-Voucher) ในราคาถูกเพียง 199 บาท จนคนแห่เข้ามาจองซื้อจำนวนนับแสนใบ ก่อนที่จะปิดร้านหนีหายไปอย่างไร้ร่องลอย รวมไปถึงการหลอกให้นักลงทุนเข้ามาเปิดร้านสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ผิดเพี้ยน  

 

ทำให้มีผู้เสียหายทั้งผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อวอยเชอร์เพื่อรับประทานเอง ผู้บริโภคที่ซื้อวอยเชอร์เพื่อไปขายต่อ นักธุรกิจที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์  และซัพพลายเออร์ที่จัดส่งวัตถุดิบให้ ซึ่งแม้วันนี้จะยังไม่สามารถประเมินผลเสียหาย ที่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพราะยังมีผู้ได้รับผลกระทบและทยอยเข้าแจ้งความไม่จบสิ้น

 

แต่กรณีที่เกิดกับร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ยังส่งผลกระทบไปยังร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ และธุรกิจที่ขยายการลงทุนในรูปแบบของแฟรนไชส์ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น และไม่กล้าที่จะลงทุนต่อไป

ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ฉุดความเชื่อมั่นตลาดบุฟเฟ่ต์-แฟรนไชส์

ถือเป็นบทเรียนราคาแพง สำหรับผู้บริโภค และนักธุรกิจ ที่ต้องพินิจวิเคราะห์ พิจารณาทุกครั้ง

 

เพราะจะว่าไปแล้วกรณี “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2562 ก็เกิดกรณีที่คล้ายคลึงกันเมื่อร้านซีฟู้ดชื่อดัง “แหลมเกต” อัดโปรโมชั่นขายวอยเชอร์หลักร้อย ให้กินแบบไม่อั้น ทำสนั่นโซเชียลและมีคนแห่จองทั่วสารทิศ ก่อนที่จะยกเลิกในเวลาต่อมา จนที่สุดต้องปิดกิจการแบบถาวร

 

แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ เพราะมีผู้เสียหายนับหมื่นราย พร้อมคดีความมากมายที่สุดแล้วในปี 2563 จำเลยทั้ง 3 รายต้องโทษจำคุกรวมคนละ 1,446 ปี

 

ผลของคดีแหลมเกตน่าจะเป็นบทเรียนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี แต่กลับใช้ไม่ได้กับ “ดารุมะ ซูชิ”

 

เพราะหากย้อนเส้นทางของ “ดารุมะ ซูชิ” การเริ่มต้นธุรกิจก็ไม่แตกต่างจากนักธุรกิจทั่วไป ซึ่งเริ่มต้นจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท  เส้นทางการเติบโตของ “ดารุมะ ซูชิ” หากเปรียบเทียบระยะเวลาดำเนินธุรกิจที่อยู่มา 6 ปี 5 เดือนกับจำนวนสาขา 27 แห่ง ถือว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างดี เฉลี่ยขยายสาขาปีละ 4-5 แห่ง

ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ฉุดความเชื่อมั่นตลาดบุฟเฟ่ต์-แฟรนไชส์

รวมไปถึงสินทรัพย์ รายได้รวม และผลประกอบการในแต่ละปีก็สอดคล้องกัน จึงไม่แปลกใจหากนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจจะเข้าไปร่วมลงทุนในรูปแบบของแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นโมเดลแฟรนไชส์ที่ไม่เหมือนใคร และหากเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนและไม่ได้ศึกษารูปแบบของแฟรนไชส์มาก่อนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 

เพราะเป็นโมเดลแฟรนไชส์ที่เพียงมีสถานที่ มีเงินลงทุน 2-2.5 ล้านบาท ไม่ต้องลงมือบริหารเอง จัดหาพนักงานให้ สั่งซื้อ-จัดส่งวัตถุดิบ บริหารจัดการให้ นั่งรอรับเงินส่วนแบ่งที่ได้แต่ละเดือนเท่านั้น (ซึ่งแท้จริงโมเดลการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ ไม่ใช่แบบนี้เลย)

 

“ดารุมะ ซูชิ” เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มคนรักบุฟเฟ่ต์ (Buffet Lovers) เมื่อเปิดขายวอยเชอร์ ในราคาถูกเริ่มตั้งแต่ 259 บาทขึ้นไป ซึ่งสำหรับคนที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น และรักการกินบุฟเฟ่ต์ถือว่าสุดคุ้ม วอยเชอร์ดังกล่าวจึงได้กระแสตอบรับล้นหลามและหมดในระยะเวลารวดเร็ว และก็ถูกนำกลับมาใช้แบบไร้ปัญหาใดๆ

 

จึงไม่แปลกอะไรเมื่อ “ดารุมะ ซูชิ” กลับมาจัดโปรโมชั่นผ่านแอปพลิเคชัน Daruma Sushi เปิดขายวอยเชอร์ให้กินได้ไม่อั้น จัดเต็มทุกเมนูในราคาเพียง 199+ แต่ต้องซื้อจำนวน 5 ใบขึ้นไป ซึ่งไม่ต้องบอกว่า คุ้มค่าแค่ไหน เพราะมียอดขายเกือบ 6 แสนใบ

ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ฉุดความเชื่อมั่นตลาดบุฟเฟ่ต์-แฟรนไชส์

หากมองในมุมหนึ่ง การทำโปรโมชั่นขายวอยเชอร์ ทำให้เจ้าของร้านกำเงินก้อนในมือ ทำให้มีเงินสดไปหมุนเวียนธุรกิจ ในท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่กระทบหนักต่อธุรกิจร้านอาหาร แต่ในอีกมุมหนึ่ง การจะปล่อยขายวอยเชอร์ ก็ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาในอนาคตด้วย

 

เพราะที่สุดแล้ว “ดารุมะ ซูชิ”  ก็ล่องหนหายไป โดยไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้า  ส่งผลกระทบหนักไม่ใช่เฉพาะลูกค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงพนักงาน และซัพพลายเออร์ด้วย  

 

วันนี้ผลกระทบไม่ใช่ตกเฉพาะ “เหยื่อ” ที่เป็นผู้เสียหาย แต่กำลังลุกลามไปถึงร้านอาหารที่ให้บริการบุฟเฟ่ต์ และธุรกิจที่ลงทุนในรูปแบบของแฟรนไชส์

  ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ฉุดความเชื่อมั่นตลาดบุฟเฟ่ต์-แฟรนไชส์

“สรเทพ  โรจน์พจนารัช” หรือสตีฟ CEO บริษัท สตีฟ กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของร้านอาหาร Steve Café & Cuisine สะท้อนให้ฟังว่า อย่ามองว่าร้านบุฟเฟ่ต์เหมือนดารุมะ ซูชิ ไปหมด เพราะดารุมะ อาจจะเป็นแค่ 1% ส่วนอีก 99% เป็นร้านบุฟเฟ่ต์ที่ได้มาตรฐาน

 

“ผู้บริโภคที่คิดจะซื้อวอยเชอร์ในราคาถูกก็ต้องตระหนักและคิดสักนิดว่า    ซื้อโปร 199 แต่ราคาแซลมอนกิโลละ 500 กว่าบาท แม้ซื้อครั้งแรกจะโอเค ครั้งที่สองจะโอเค ใช่ว่า ครั้งที่ 3 จะโอเคเหมือนเดิม ส่วนผู้บริโภคที่เป็นตัวกลาง ก็เช่นกัน ซึ่งครั้งนี้มีผู้วอยเซอร์เป็นหลักพันใบ เพราะสามารถนำไปขายต่อและกินส่วนแบ่งได้”

 

บทเรียนนี้ยังสอนให้ “ซัพพลายเออร์” รู้ว่า การบริหารจัดการและยึดหลักเครดิตเทอม เป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่ก็ต้องมีข้อกำหนด ข้อปฏิบัติ ซึ่งการเริ่มต้นธุรกิจแรกๆ มักจะไม่เจอปัญหา แต่เมื่อสาขาเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 20 สาขา ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 200-300 เท่า ยอดบิลลิ่งย่อมสูงตามไปด้วย เรื่องของเครดิตเทอม จึงต้องชัดเจน

 

บทเรียนนี้ยังกลายเป็น “บทเรียนราคาแพง” ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ขาดการศึกษาในโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจในคำว่า “แฟรนไชส์” อย่างลึกซึ้ง 

 

คำว่า “แฟรนไชส์” ไม่ใช่แค่ใส่เงินและรอรับปันผล หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างกับ “แชร์ลูกโซ่”

 

และบทเรียนสำคัญของ “ร้านอาหาร” คือ อย่าริ เอาเงินในอนาคตมาใช้ เช่น การขายวอยเชอร์ล่วงหน้า เพราะแน่นอนว่า สิ่งที่ได้มาคือ เงินสดที่จะมาช่วยทำให้สภาพคล่องดีขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้ามาใช้บริการ คุณจะสามารถรองรับเขาได้หรือไม่

 

“สตีฟ” บอกว่า วันนี้ธุรกิจร้านอาหารไม่สวยหรู เฉกเช่น 10 กว่าปีก่อน ไม่หอมหวานอย่างที่คิด ในอดีตการทำร้านอาหารอาจได้กำไรเฉลี่ย 20-25% แต่วันนี้ หากทำกำไรได้ 15% ก็หรูแล้ว  ขณะที่กระแสเงินสดต้องมีอย่างน้อย 6-12 เดือน จากเดิมที่มีแค่ 3-4 เดือนธุรกิจก็อยู่รอดได้

 

วันนี้เหตุการณ์ที่เกิดกับ “ดารุมะ ซูชิ” ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์

 

จาก “แหลมเกต” ถึง “ดารุมะ ซูชิ” คงไม่หมดแค่นี้ แต่ใครจะเป็นรายต่อไป .... ต้องจับตาดู