หลังจากขยายตลาดจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและฐานลูกค้าเหนียวแน่นสำหรับ ออฟฟิศเมท ภายใต้การบริหารของ เซ็นทรัล รีเทล จับจังหวะตลาดแฟรนไชส์โตสูง ผุด แฟรนไชส์ “ออฟฟิศเมท พลัส” ดึง SME เสริมทัพต่อเนื่อง พร้อมตอกย้ำความแกร่งของแบรนด์ประกาศการันตีกำไร 1 แสน/เดือน
นางสาววิลาวรรณ ฤกษ์เกรียงไกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจแฟรนไชส์ ออฟฟิศเมท พลัส ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เปิดเผยว่าออฟฟิศเมท พลัส เป็นแฟรนไชส์ที่เติบโตมาพร้อมกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562-2565 ยอดขายสาขาแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัส เติบโตเฉลี่ย 189% ต่อปี ด้วยสินค้าเพื่อธุรกิจกว่า 100,000 รายการ และช่องทางขายแบบ Omnichannel ที่พร้อมให้แฟรนไชส์ซีขายได้ทั้งหน้าร้าน และระบบออนไลน์หลังร้าน โดยมีบริการจัดส่งฟรีถึงบ้านและออฟฟิศ (ตามกำหนด) ทำให้ร้านแฟรนไชส์สร้างรายได้ต่อเนื่อง สามารถคืนทุนใน 3-4 ปี จากการลงทุนเริ่มต้น 2.9 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมาพบว่า SME ที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจ มีธุรกิจครอบครัว หรือต่อยอดจากกิจการเดิมที่มีฐานลูกค้าธุรกิจในท้องถิ่น หลังจากเปิดแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัส จะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีมาก สามารถสร้างยอดขายทะลุล้านต่อเดือนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้กำไรมากถึงหลักแสนบาทต่อเดือน โดยลูกหลักมาจากกลุ่มลูกค้า B2B 90% และปัจจุบันมีแฟรนไชส์ซีบางรายที่ต่อยอดความสำเร็จโดยเปิดสาขาสองกันแล้ว
ทั้งนี้ออฟฟิศเมท พลัส มีสาขาทั้งสิ้น 40 สาขา ใน 35 จังหวัด (ณ เดือนมิถุนายน 2565) โดยปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีสาขารวมกว่า 65 สาขา ครอบคลุมทั่วไทย ก่อนจะขยายให้ครบ 100 สาขาในปีหน้าและ 300 สาขาภายใน 5 ปี
“เมื่อสองปีที่แล้วเราทำร้านต้นแบบของเราขึ้นมามีผู้สนใจมากกว่า 1,000 รายที่ติดต่อเข้ามา ตอนนี้ ร้านแรกที่เปิดมาจนถึงตอนนี้เรายังไม่มีความเสี่ยงเนื่องจากผลประกอบการยังค่อนข้างเติบโต โดยอัตราการเติบโตของสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 189% หรือเติบโตเกือบ 2 เท่าต่อปี
ลูกค้าแฟรนไชส์เป็นลูกค้าของออฟฟิศเมทเช่นกัน เพราะขายสินค้าที่เราจัดสรรให้เอาไปจำหน่ายเพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่เราประเมินตอนนี้คือไม่มีความเสี่ยง เรามีแต่อยากจะขยายออกไปให้เยอะๆดังนั้นแผนที่จะขยายสาขาจึงมีอย่างต่อเนื่อง
เพราะช่วงโควิดปีแรกเราขยายได้ไม่มาก แต่โชคดีที่แฟรนไชส์ shop house ไม่ต้องปิดตามมาตราล็อกดาวน์แต่อาจมีปัญหาเรื่อง supplyขาดตลาดรองรับ demandไม่ทันและการปรับตัว เช่นช่วงโควิดร้านแฟรนไชส์ขายอุปกรณ์โควิดขายดีมาก หลังจากโควิดเริ่มอยู่ตัวเราเริ่มมาปรับและขายสินค้าที่เป็นปกติของเรา เราเริ่มรู้ว่าสินค้าที่เอื้อต่อการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ออฟฟิศมันคืออะไรหรือการทำธุรกิจในร้านค้าผู้ประกอบการต้องการอะไรบ้างแล้วก็เริ่มมาปรับ
ซึ่งตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า business model ของเราไปต่อได้แน่นอนและทุกๆร้านตอนนี้เราเห็นสัญญาณบวกทั้งหมด และเรามีความมุ่งหวังว่าเราจะมีร้านออฟฟิศเมท พลัส ทั่วประเทศซึ่งตอนนี้เรามีอยู่แค่ 40 จังหวัดซึ่งตอนนี้เราได้เพิ่มเข้ามาอีก 15 จังหวัด ปิดสิ้นปีที่ประมาณ 65 สาขาถ้าปีหน้าเราสามารถทำได้ถึง 100 สาขาเราก็จะมีครอบคลุมทุกจังหวัดลูกค้าก็สามารถเข้าถึงสินค้าของออฟฟิศเมทได้เราเปิดเฉลี่ยเดือนละ 3-4 สาขา โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพสูง อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน สระแก้ว อำนาจเจริญ ขอนแก่น หนองคาย กาญจนบุรี อยุธยา สงขลา ภูเก็ต และ กระบี่ เป็นต้น
สำหรับลิมิตในการขยายแฟรนไชส์เรามองไว้ทั่วประเทศ 1 อำเภอจะต้องมี 1 แฟรนไชส์ ออฟฟิศเมท พลัส เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งลูกค้าและการกระจายสินค้าที่ทั่วถึง ที่สำคัญลูกค้าแฟรนไชส์ที่เข้ามาช่วยเราขยายตลาด จะต้องทำธุรกิจได้อย่างมีกำไรและคืนทุนได้ตามเป้าหมายซึ่งตอนนี้มี backlog ประมาณ 3-4 ปี”
ผู้บริหารยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมค้าปลีกอุปกรณ์สำนักงานและคอมพิวเตอร์ เนื่องจากนีดมาร์เก็ต ทำให้บางหมวดสินค้าเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นหมวดเฟอร์นิเจอร์สำนักงานและหมวดอุปกรณ์ไอที ขณะที่บางหมวดเติบโตนิ่งๆ เช่นอุปกรณ์สำนักงาน และแม้ว่าหลังจากโควิดจะคลี่คลายลงไปและเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีแต่การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปเช่นการ work from home ทำให้ผู้คนต้อง set office ที่บ้านเยอะขึ้น
ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศที่มี SME เยอะมาก ก่อนโควิดมีจำนวน SME ปีละ 2-3 ล้านรายแต่หลังจากโควิดเข้าใจ จำนวน SME พุ่งขึ้นถึง 5 ล้านรายเนื่องจากคนออกมาเป็นเถ้าแก่และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มากขึ้นทำให้ความต้องใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับการทำงานเยอะขึ้น ส่งผลโดยตรงให้ demand อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เยอะขึ้นจนทำให้สินค้าขาดตลาด
“ภาพรวมอุตสาหกรรมถือว่าเป็นภาพรวมที่ไม่ได้ทรุด เพราะเราไม่ได้เป็นธุรกิจที่อิงกับภาคการท่องเที่ยวมากนัก แม้ตลาดไม่โตแต่มาร์เก็ตแชร์เปลี่ยน เพราะมีธุรกิจที่หยุดกิจการไปเยอะ เช่นท่องเที่ยว ก็อาจอุปกรณ์สำนักงานน้อยลงแต่มีธุรกิจอื่นๆเข้ามาทดแทนเช่น e-commerce ที่เติบโตเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นโดยรวมตลาดอาจจะไม่ได้โตแต่ย้ายจากคนที่อ่อนแอมาอยู่ในพอร์ตของคนที่แข็งแรงขึ้น
ขณะที่ภาคการผลิตของเราก็ยังถือว่าเป็นภาคการผลิตที่แข็งแรง และส่งออกมีเรื่องค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องตอนนี้ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนที่ดี ถ้ารัฐส่งออกดีลูกค้าที่เป็นภาคผลิตเช่นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งเล็กกลาง ใหญ่ก็จะมีความต้องการในเรื่องของการผลิตมากขึ้นและต้องการใช้สินค้าที่ออฟฟิศเมทซัพพลายให้เยอะขึ้นเช่นกัน
ในเรื่องของคู่แข่งทางการตลาดต้องยอมรับว่า SME ที่ไม่มีแบรนด์แบบออฟฟิศเมทแต่ขายอุปกรณ์สำนักงาน ในช่วงโควิดที่ผ่านมาอาจจะล้มหายตายจากไปเยอะเนื่องจากหันไปทำธุรกิจอื่นเพราะมีความยากในการหาสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งต้องบอกว่าการทำระบบซัพพลายเชนที่แข็งแรงของออฟฟิศเมทก็เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ทำให้เรายังมีสินค้าจำหน่ายและตอบโจทย์ลูกค้าได้ค่อนข้างดีกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ”