หลังจากที่ 8 สมาคม ประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร, สมาคอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา, สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร, กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน
สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย ได้จัดทำข้อเสนอ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยวใน 7 ประเด็น ทั้งการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
การยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 17 หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป , การอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ กลับมาเปิดให้บริการได้
การทบทวนและปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน การยกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 -17.00 น. เนื่องจากการควบคุมเวลาไม่สามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการควบคุมการบริโภคอย่างเป็นอันตราย (Harmful Use of Alcohol) และการป้องกันปัญหาสังคมและอุบัติเหตุได้จริง เป็นต้นนั้น
ล่าสุด ศบค. ชุดใหญ่ มีมติปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันควบคุมต่างๆ รวมถึงการปรับลดระดับของพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 ให้คงเหลือเพียง “พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่เฝ้าระวัง” ทั้งประเทศ แต่ต้องเน้นย้ำในมาตรการ 2U : Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ 8 มาตรการ ประกอบด้วย
1. มาตรการเกี่ยวกับพื้นที่สถานการณ์ โดยปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว) ทั้งประเทศ ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
2. มาตรการการใส่หน้ากากอนามัย ปรับเป็นให้ควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก
3. การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง เปลี่ยนเป็นให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4. สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปลี่ยนเป็นเปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด
5. การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ได้มีการผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ
6. การคัดกรองอุณหภูมิ เปลี่ยนเป็น ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)
7. การเว้นระยะห่าง ได้แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
8. มาตรการการรวมกลุ่ม ให้ทำการตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคกก.โรคติดต่อจังหวัด/กทม. ทราบ เพื่อเฝ้าระวังการระบาด
รวมทั้งการอนุมัติให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เฉพาะในพื้นที่โรงแรมต่างๆทั่วประเทศ และให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในสถานบันเทิง ร้านค้า ร้านอาหารได้จนถึงเวลา 02.00 น.ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหนัก สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาคการค้าและครัวเรือนทำให้เกิดการล้มละลายในอาชีพและธุรกิจ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19คลี่คลายลดลง และจะเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เตรียมกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีหลังจากที่ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการโดยอนุญาตให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ มาเปิดให้บริการได้จนถึงเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เห็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจในการท่องเที่ยวกลางคืนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังทำให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องได้มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก Street food รถบริการรับจ้างสาธารณะ รวมถึงเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกับนักดนตรี นักแสดง ตลก บาร์เทนเดอร์ พนักงานบริการต่างๆ
“หลังการคลายล็อกดาวน์ให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง นอกจากจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจกลางคืน ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวกลางวันอีกด้วย ทั้ง โรงแรมและที่พัก ร้านค้าขายต่างๆ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
ดังนั้นขอให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการใดๆที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า ซึ่งการพิจารณาทบทวนดังกล่าวอย่างรอบคอบ ปราศจากอคติ
โดยขอให้อยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงและความเหมาะสมถูกต้อง ได้สัดส่วนต่อประโยชน์ส่วนรวม ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข ซึ่งถ้ากฎหมายใดหรือมาตรการใดมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันเชื่อว่าประชนชนก็พร้อมปฏิบัติตาม
“สิ่งที่ผู้ประกอบการนำเสนอไปนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด โดยรัฐบาลหรือ ศบค. ไม่จำต้องจัดหางบประมาณมาสนับสนุนแต่อย่างใด อาทิเช่น การขยายเวลาปิดของสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ถึงตีสอง, การยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14:00-17:00 น., ตลอดจนพื้นที่ zoning ของการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น”
ทั้งนี้จะเห็นว่า ผู้ประกอบการต่างมีข้อตกลงในกฎเหล็กที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น ห้ามมิให้เด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีมาใช้บริการ, ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด, ป้องกันมิให้มียาเสพติดในสถานบันเทิง และรณรงค์ส่งเสริมเกี่ยวกับ เมาแล้วขับ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของมาตรการที่รัฐบาลหรือ ศบค. ต้องการอย่างแท้จริง
สภาพเศรษฐกิจและสังคมขณะนี้รู้กันว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย รัฐบาลก็ควรที่จะรีบพิจารณาดำเนินการในการหาหนทางในการสนับสนุนส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว โดยขอให้เร่งพิจารณาผ่อนคลาย ลดหรือยกเลิกมาตรการใดที่ไม่จำเป็น ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นอุปสรรค
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ส่งผลต่องบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลกำลังประสบปัญหาหรือกังวลแต่อย่างใด เพราะขณะนี้เศรษฐกิจผันผวนรุนแรงจากปัจจัยลบรอบด้านทั้งเรื่องของพลังงาน ความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“การขอผ่อนคลายมาตรการนี้ไม่ได้รบกวนงบประมาณของรัฐบาล รัฐบาลควรเร่งพิจารณาตัดสินใจ เพราะการท่องเที่ยวเป็นการแข่งขันสูง ทุกประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนกันจึงต้องการให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินเพื่อช่วยเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ถ้าเราตัดสินใจช้าก็จะเสียโอกาส”
นายธนากร กล่าวอีกว่า มาตรการที่รัฐบาลผ่อนคลายนี้เพียง 1 ใน 5 ที่ผู้ประกอบการต่างๆ ยื่นนำเสนอต่อรัฐบาล เพราะประเด็นสำคัญที่พวกเรานำเสนอคือ การเร่งส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในขณะเดียวกันรัฐบาลสามารถประเมินสถานการณ์ด้านความปลอดภัยการท่องเที่ยวและปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการเตรียมแผนนำเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในสิ้นเดือนนี้อีกครั้ง หลังจากที่ประเมินแล้วเชื่อได้ว่า สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่เปิดให้บริการหลังผ่อนปรนไม่ใช่คลัสเตอร์ที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิดอีกต่อไป
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565