นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์จากต่างประเทศ ได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และ HARNN (หาญ) เปิดเผยว่า บริษัทต่อยอดธุรกิจจากไลฟ์สไตล์ รีเทลสู่ Food & Beverage
ด้วยการเปิดตัวร้าน “มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่” (Marimekko Pop-Up Cafe) สาขาแรกในไทยและในโลกขึ้น ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ “มารีเมกโกะ” (Marimekko) ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ ที่โดดเด่นด้วยลายพิมพ์และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์จากประเทศฟินแลนด์
แบรนด์มารีเมกโกะ มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อก่อตั้งแบรนด์ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่งานต้นน้ำในการคัดเลือกสินค้าให้ตรงกับเทสต์ของลูกค้าคนไทยในปริมาณที่เหมาะสม การวางกลยุทธ์สินค้าให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า YWN (youth-women-netizens) ที่ไม่จำกัดที่ราคา แต่เน้นการใช้งานได้จริงอย่างกระเป๋าผ้ายอดนิยมซึ่งเป็นเหมือนการสร้างฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรก
ก่อนที่จะต่อยอดด้วยการสร้างกลยุทธ์การสื่อสารที่ครบ 360ํ จากลายพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวที่เป็นมากกว่าจุดขาย และการเข้าสู่ Omni marketing ที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยมี Live streaming เป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างการรับรู้ และส่งประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆกับการสร้างยอดขายแบบไม่ต้องลดแลกแจกแถม ทำให้สามารถเติบโตได้แม้จะอยู่ในภาวะการระบาดของโควิด-19 โดยปัจจุบันมารีเมกโกะมีสาขารวมทั้งสิ้น 10 สาขา 1 เอ้าท์เล็ท และมีช่องทางการขายบนโลกออนไลน์อีก 4 ช่องทาง
“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนใช้ชีวิตที่บ้าน สั่งของออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่พบคือ ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน ในครัวมากขึ้น ทำให้สินค้าในแผนกครัวของมารีเมกโกะ ได้รับความนิยมตามไปด้วย ซึ่งการจะทำให้ลูกค้าใกล้ชิดกับสินค้าและมีประสบการณ์ตรง จึงถูกนำมาต่อยอดเป็นร้าน Marimekko Pop-Up Cafe ซึ่งเป็นโมเดลแรกของโลกที่พัฒนาขึ้นที่ไทย”
“ธนพงษ์” บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร้านอาหารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะคนไทยคุ้นเคยและรู้จักแบรนด์มารีเมกโกะ ขณะที่ยอดขายในร้านก็เพิ่มสูงขึ้น 50% ทำให้บริษัทเชื่อมั่นและมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยสาขาของร้าน Marimekko Pop-Up Cafe จะต้องอยู่ใกล้เคียงกับร้านมารีเมกโกะ (ไลฟ์สไตล์แฟชั่น) ด้วย
โดยในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 100 ล้านบาท ในการขยายสาขาร้าน Marimekko Pop-Up Cafe อีก 3 สาขา นอกจากนี้ความสำเร็จของโมเดลดังกล่าว จะนำไปต่อยอดให้กับแบรนด์ Cath Kidston ด้วย โดยคาดว่า สาขาแรกจะเปิดให้บริการในเซ็นทรัลเวิลด์ ในเดือนธันวาคมนี้
“ปัจจุบันแบรนด์มารีเมกโกะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปิดให้บริการหมดแล้ว เหลือเพียงประเทศไทย ที่ยังคงได้รับความนิยม ขณะที่ด้วยเศรษฐกิจโดยรวมบริษัทจะยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่ม แต่จะเน้นการทำตลาดรอบด้าน
ขณะที่ในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศเวียดนาม จะขยายสาขาแบรนด์แคท คิดสตัน เพิ่มอีก 1 แห่งในเดือนก.ค. นี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 สาขาในโฮจิมินต์และฮานอย และมีแผนเปิดช้อปมารีเมกโกะอีก 1 แห่งในฮานอยด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนขยายช้อปสปา ภายใต้ชื่อ HARNN JAPAN ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับนักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา”
อย่างไรก็ดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายในปี 2564 ลดลงไปเกือบ 50% จากปี 2562 ที่มีรายได้ราว 1,300 ล้านบาท ลดลงเหลือกว่า 900 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะกลับมามีรายได้รวมกว่า 1,150 ล้านบาท หลังจากที่พบว่ามียอดขายเติบโตแล้วกว่า 50% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้งในปีนี้ที่ 90 ล้านบาท พร้อมกับเดินหน้ายื่นไฟล์ลิ่งในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ในปลายปีเดียวกัน หลังจากที่เจอวิกฤตโควิดทำให้ต้องเลื่อนมาก่อนหน้านี้
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565