นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่ภาครัฐฯ ได้ประกาศปลดล็อกให้สามารถนำส่วนของใบ กิ่ง ก้านและรากของผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ได้อย่างถูกต้อง เป็นผลทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับที่โรงพยาบาลยันฮีได้ส่งทีมบุคลากรไปอบรมกัญชาทางการแพทย์อย่างจริงจัง ทำให้พบว่าทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจ และเลือกใช้ยาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ยันฮีจึงนำความรู้มาต่อยอด และพัฒนาเป็นแพทย์ทางเลือกเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย ผ่านศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาของโรงพยาบาลยันฮี
ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาโรงพยาบาลยันฮี จะเน้นให้บริการรักษาโรคแก่ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ โรคเครียด วิตกกังวล โรคทางจิต รวมถึงโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โดยมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมเรื่องของกัญชาโดยเฉพาะซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาและต่อยอดจากกัญชาสู่ผลิตภัณฑ์ยาและอื่น ๆ ที่หลากหลายและปลอดภัย
ในอนาคตยันฮีตั้งเป้าพัฒนาศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาแห่งนี้ ให้มีการรักษาและผลิตภัณฑ์การรักษาโรคที่มีความหลากหลายขึ้น อาทิ รักษาอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงจาก Long Covid (ภาวะลองโควิด) , รักษาไมเกรน , รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่มีผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด ตลอดจนอาการนอนไม่หลับ, เครียด, วิตกกังวล
หลังจากนี้ มีเป้าหมายที่จะสกัดยาเพื่อใช้บรรเทาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาใช้ภายนอก เช่น สเปรย์กัญชาสำหรับคลายกล้ามเนื้อ ครีมผสมกัญชา และน้ำมันกัญชา เป็นต้น
ทางด้าน นพ.สรรพสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการบริษัท ยาอินไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์กัญชาที่ผลิตขึ้น ปัจจุบันแบ่งเป็นยาใช้ทั้งภายในและภายนอกโดยยาใช้ภายใน จะได้แก่ ยาราตรี, ยานิทรา, ยากัญชู, ยากัญซึม, น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นและยาดองกัญชา ส่วนยาใช้ภายนอกนั้น จะได้แก่ ยากัญเกา, กัญชาบาล์ม, กัญชาสเปรย์และน้ำมันนวดกัญชา
นอกจากนี้ ยังมียันฮี ซีบีดี มอยเจอร์ไรเซอร์ มาส์ก และ ยันฮีน้ำกัญชาผสมวิตามิน กลิ่นลาเวนเดอร์ มิกซ์ เบอร์รี่ ที่ร่วมมือกับทางโอสถสภา ได้รับการตอบรับ ทำให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ต่อเนื่อง
นพ.สุพจน์ กล่าวเสริมว่า ยันฮีมีแผนจะลงทุนเพิ่มด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อสุขภาพ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ด้วยงบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะเน้นเรื่องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการผู้บริโภคโดยเฉพาะเครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการรับซื้อวัตถุดิบหลักจากชุมชนวิสาหกิจทั่วประเทศแล้ว ยังเตรียมขยายพื้นที่เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเองอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ยังต้องมีความระมัดระวัง เพราะไทยยังไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่รัดกุม ในการควบคุมการใช้กัญชา เนื่องจากพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ อย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงอาจมีคนจำนวนมากหันมาปลูกกัญชาตามบ้านเรือนและปลูกกันอย่างไม่จำกัดจำนวน โดยเฉพาะการปลูกเชิงพาณิชย์ ที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต และอาจมีคนนำบางส่วนของกัญชาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น การใช้ช่อดอกกัญชาเพื่อนำมาเป็นยาสูบ โดยเฉพาะในเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป็นต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกันต่อไป