นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาของ อพท. จะใช้วิธีบูรณาทำงานร่วมกัน โดยดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืด ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย
ซึ่งอยู่ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร และไหลบรรจบที่ ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา จึงเป็นทะเลสาบแบบลากูน ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับความโดดเด่นด้านฐานทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “ โหนด นา เล”
ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามที่กล่าวมา อพท. จะนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT) มายกระดับมาตรฐานการให้บริการของชุมชน และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ผ่านการนำเสนอ 5 เส้นทางการท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อนที่กำหนดไว้ว่าวิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก
อพท. ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภายใต้แนวคิด โหนด นา เล โดยในความหมายของ “โหนด” มาจากคำว่า “ตาลโตนด” ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช พันธ์สัตว์ ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ
“นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหารด้วยเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีการทำนา และมีข้าวพันธ์ดีคือข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง โดยข้าวสังข์หยดที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมือง ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์
ส่วน “เล” แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อน 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราชให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน โหนด- นา- เล จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมๆ