ภาคเอกชนท่องเที่ยวร่วม 12 สมาคม ร่วมมอบหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 ปี 2565 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล ต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วานนี้(วันที่ 18 กรกรฏาคม 2565) ณ ทำเนียบรัฐบาล
โดยเอกชนได้เสนอข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 ปี 2565 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล โดยในหนังสือข้อเรียกร้อง มีรายละเอียดดังนี้
ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มสัญญาณการฟื้นตัวเป็นไปในทิศทางบวกเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่การผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลตั้งไว้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายและสถานการณ์ ความไม่แน่นอนหลายประการที่เกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์
การระบาดของโรคฝีดาษลิงที่กำลังลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน ทั้งยังประสบแรงกดกันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ
ปี พ.ศ. 2565 ถือเป็น “จุดต่ำสุด” ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม หลังจากที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวและคาดว่าจะได้กลับมา เป็นปกติในปี พ.ศ. 2567 โดยพิจารณาจากอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเริ่มเพิ่มจำนวนกลับมา แต่อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 50
เช่นเดียวกันกับอัตราการโดยสารที่นั่งของผู้โดยสารตามแผนการบินขาเข้าระหว่างประเทศ (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ยังมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทาง มีอัตราที่สูงขึ้น ทั้งเกิดความยุ่งยากในการเดินทาง จนอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก และอุตสาหกรรมการบิน
ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง การปรับลดพนักงานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงาน ส่วนหนึ่งออกจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวเที่ยวและโรงแรมอย่างถาวร ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างมากทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับเชี่ยวชาญ จนไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในระยะฟื้นตัว
ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นกำลังสาคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปี พ.ศ. 2562 หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้ กอปรกับเป็นการช่วยเหลือสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงรักษาธุรกิจและสามารถให้บริการอย่างมีคุณภาพในระยะฟื้นตัว
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขอเสนอมาตรการ ABC ฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉม การท่องเที่ยวไทย โดยที่มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ห่วงโซ่อุปทาน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป
1. มาตรการ A: Accelerate Travel & Tourism Spending เร่งรัดให้เกิดการใช้จ่าย ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในไทยเป็นระยะเวลานานขึ้น โดยพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่งคราวจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565 และขอขยายระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa และ Visa on Arrival (VOA) จาก 30 วันเป็น 45 วัน และจาก 15 วันเป็น 45 วัน ตามลำดับ นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น เป็นการเพิ่มเติมกำลังซื้อสำหรับเศรษฐกิจ ในประเทศ และยังสอดรับกับปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
2. มาตรการ B: Booster Shot กระตุ้นตลาด เพื่อหมุดหมายในการฟื้นประเทศ “เราฟื้นด้วยกัน” ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มความถี่ และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ในการเดินทางในเส้นทางการบินเดิม การเปิดเส้นทางใหม่ หรือการเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ราคาค่าโดยสารสมเหตุสมผล เพิ่มการเชื่อมโยง (Connectivity)
อีกทั้งยังช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองรอง ตั้งเป้าหมายในการนำความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) กลับมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ที่เคยมีในปี พ.ศ. 2562 ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ยังจะนำผู้ประกอบการทำการตลาดเชิงรุก ผ่าน Trade Show และ Roadshow อย่างเข้มข้นในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับการทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น OTAs ส่งเสริมการขาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้
สำหรับตลาดในประเทศ มุ่งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เน้นการเพิ่มวันพักค้างและความถี่ในการเดินทาง โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และอัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและโรงแรมขนาดกลาง และขนาดย่อมที่อยู่ในระบบฐานภาษี โดยจัดส่งเสริมการตลาดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านห้อง/คืน การทำคูปองท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการสนับสนุนรถทัวร์ให้ใช้เดินทางศึกษาดูงานหรือการประชุมสัมมนา ในต่างจังหวัด
3. มาตรการ C: Cost-effective สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการบริหารต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล ลดต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยผ่อนผัน แก้ไขระเบียบ คำสั่ง และ/หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น
3.1 ปรับอัตราการเบิกจ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555) ซึ่งเป็นอัตราเดิมที่ต่ำมากและใช้มาเป็นเวลา 10 ปี ให้สอดคล้องกับระดับราคาที่เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านอาหารและวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่าย เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
3.2 ผ่อนผันการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการกรณีเดินทางเป็นหมู่คณะ ให้สามารถจ้างเหมาบริการผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้โดยตรง และอนุญาตให้ใช้ใบแจ้งหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายและใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่าย
3.3 อนุมัติให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับการต่อเติมหรือปรับขยายกิจการ การปรับปรุงอาคารและเฟอร์นิเจอร์ (Build-in) และการลงทุนในเรื่องนวัตกรรม เครื่องจักร และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 2 เท่า (200%) ของรายจ่ายที่จ่ายจริง
3.4 ขอขยายเวลาอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ (Tax Loss Carry Forward) จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี
3.5 ขอผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี พ.ศ. 2565 เป็นงวด โดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม รวมถึงพิจารณาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี พ.ศ. 2566 ลดหย่อนร้อยละ 75 ปี ทั้ง พ.ศ. 2567 ลดหย่อนร้อยละ 50 และปี พ.ศ. 2568 ลดหย่อนร้อยละ 25 ตามลำดับ
3.6 เพื่อลดภาวะแรงงานขาดแคลนในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พิจารณาสนับสนุน และผ่อนผันกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนลดขั้นตอนเพื่อรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน จนถึงปี พ.ศ. 2567 ดังนี้
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการเข้าพบและหารือแนวทางต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับนายกรัฐมนตรีบรรยากาศถือว่าเป็นไปด้วยดี ซึ่งนายกก็รับข้อเสนอในทุกเรื่อง มีการพูดคุยอย่างมีเหตุมีผลที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยท่านนายกก็รับปากว่าอะไรที่พอจะทำให้ได้ก็จะทำให้ได้เลย แต่บางเรื่องก็ต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา อาทิ บูสเตอร์ ช็อต ที่สภาพัฒน์จะเข้ามาช่วยดู ซึ่งการมาพูดคุยหารือร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ดี และร่วมกันหารือถึงทางออกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทางสมาคมโรงแรมไทยได้เข้าพบและหารือกับนายกฯในครั้งนี้ ท่านก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูในทุกประเด็นที่ 12 สมาคมท่องเที่ยวได้เสนอเข้าไป อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการบูสเตอร์ช็อต ที่ให้ทางสภาพัฒน์เข้าไปช่วยดู การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องของการเปิดเที่ยวบินเข้าไทย เป็นต้น
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นำผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 12 หน่วยงานเข้าพบนายกฯในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอบคุณและยินดีที่ได้พบกับคณะผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อการกระตุ้นการทองเที่ยวในไตรมาส 3 และ 4ของปีนี้
“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับข้อเสนอและแนวทางดังกล่าวของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งข้อเสนอหลายอย่างอาจสามารถดำเนินการได้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องพิจาณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม เพราะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานและหลายกระทรวง รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายธนกรกล่าว
ทั้งยังขอให้ทุกคนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว ควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเข้มข้น รองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมกันป้องกันควบคุมโรคโควิดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระยะต่อไปขึ้นอีก ให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ สามารถรถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามทำอย่างเต็มที่ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญและรายได้หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้สั่งการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ เพื่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่อเนื่องจากที่ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนให้ปี 2565 เป็น ปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย Visit Thailand Year 2022 โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมและมีความสอดคล้องกับสถานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น จัดให้มีแผนการส่งเสริมการตลาดในประเทศกลุ่มเป้าหมาย จัดกิจกรรม Roadshow Thailand 2023 เพื่อรองรับและกระตุ้นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในอนาคต ตลอดจนแผนการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว โดยพิจารณาความพร้อมและศักยภาพของประเทศในทุกด้านควบคู่ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำว่านอกจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังดำเนินการในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน EEC การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การพัฒนาทรัพยากรในประเทศควบคู่กับการดึงผู้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพสูงเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายในอนาคต โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าในด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหาความยากจน และการท่องเที่ยวด้วย
อนึ่ง 12 สมาคมท่องเที่ยวที่ยื่นหนังสือและเข้าพบนายกประยุทธ์ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมสายการบินประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สทน.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย (ATTM)