นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เตรียมเสนอรัฐบาลขอสนับสนุนงบประมาณวงเงิน 1,035.75 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการ “บูสต์เตอร์ ช็อต” เพื่อฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ภายใต้หมุดหมายในการฟื้นประเทศ “เราฟื้นด้วยกัน” ในการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทยและตลาดต่างชาติเที่ยวไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.5 ล้านล้านบาท
โดยแผนกระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศ ททท.จะขอสนับสนุนงบเงินกู้ราว 882 ล้านบาท สำหรับกระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย ให้ได้ตามเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 656,000 แสนล้านบาท และเพิ่มอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในธุรกิจโรงแรมให้อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 55% ที่จะดำเนินงานใน 3 โครงการ ได้แก่
1.การสนับสนุนให้เกิดกระจายการเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางที่เกิน 200-300 กิโลเมตร โดยส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มจำนวนที่นั่งขึ้นอีก 1 ล้านที่นั่ง โดยได้ร่วมหารือกับสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย ในการผลักดันให้สายการบินมีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70% ปัจจุบันจำนวนที่นั่งในประเทศกลับมาแล้ว 5-6 แสนที่นั่ง จึงเหลืออีกราว 3-4 แสนที่นั่งที่ททท.จะเข้าไปสนับสนุนเพื่อทำโปรโมชั่นร่วมกัน โดยสนับสนุนงบในการร่วมทำตลาดราว 10-20%
2.สนับสนุนโรงแรมที่พักที่อยู่ในฐานภาษี โดยเพิ่มจำนวนห้องพัก 1 ล้านห้อง/คืน เพื่อช่วยเหลือโรงแรมระดับเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการโรงแรมที่เสียภาษีถูกต้องแต่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันในเฟส 4 ได้ ให้สามารถฟื้นตัวได้ แต่อาจจะไม่ถึง 40% เหมือนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
3. การสนับสนุนผู้ประกอบการรถทัวร์ โดยผลักดันการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร 1 ล้านคนพร้อมไกด์ เพื่อให้ธุรกิจรถทัวร์สามารถยืนอยู่ได้ โดยททท.จะเข้าไปสนับสนุนค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ที่อาจจะต้องหารือโควต้าเป็นรายภูมิภาค ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการรถทัวร์ เสนอมาที่ 10,000 บาทต่อวัน แต่ต้องให้จัดทำแพคเกจมาเพิ่มเติม เพื่อกำหนดรายละเอียดของระยะทาง จำนวนวันพักค้าง เส้นทางเดินรถ และที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบได้
สำหรับการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ททท.จะของบกลาง จากรัฐบาล วงเงิน 153.75 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยจากเดิม 5-15 ล้านคน ปรับเป็น 7-10 ล้านคน สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท และมีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเข้าไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) โดยจะดำเนินการใน 5 โครงการ ได้แก่
1.การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ทั้ง Tourist Visa และ Visa on Arrival (VOA) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (1ก.ค.-31 ธ.ค. 65) และขยายเวลาระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa จาก 30 วัน เป็น 45 วัน และ VOA จาก 15 วัน เป็น 45 วัน
การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 1-2 พันบาทต่อคน จะทำให้นักท่องเที่ยวนำเงินที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น มีการพำนักในไทยนานขึ้น อย่างตลาดอินเดีย เข้ามาเที่ยวไทยเป็นกลุ่มอยู่ที่ราว 6-8 คน การยกเว้นค่าธรรมเนียมก็จะทำให้เขามีเงินเพิ่มอีก 8 พัน- 1 หมื่นบาท มาใช้จ่ายในไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ล่าสุดช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (1ม.ค.-30 มิ.ย.65) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 2.12 ล้านคน ถ้าช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพิ่มอีก 5-7 ล้านคน การยกเว้นวีซ่าก็จะเป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวนำเงินมาใช้จ่ายในไทยราว 5-7 พันล้านบาท และการขอยกเว้นก็ไม่ได้นานเพียง 6 เดือนหรือถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น
2.สนับสนุนสายการบินในการเพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางใหม่
3.ทำงานร่วมกับเอเย่นต์ในการเปิดเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟล์ตเข้าไทย
ทั้งนี้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของการท่องเที่ยว คือ จำนวนที่นั่งและความถี่ของเที่ยวบินที่จำกัด รวมถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น และเงินเฟ้อ ส่งผลให้จำนวนที่นั่งและเที่ยวบินเข้าไทย ยังกลับมาไม่เหมือนเดิม โดยจำนวนที่นั่งขณะนี้เพิ่งกลับมาแค่ 31% ส่วนความถี่ของเที่ยวบินเพิ่งกลับมา 29%
“ก่อนโควิด-19 ในปี 2562 จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเข้าไทย อยู่ที่ 56.28 ล้านที่นั่ง ความถี่อยู่ที่ 250,000 เที่ยวบิน แต่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเข้าไทยอยู่ที่ 17.33 ล้านที่นั่ง มีความถี่ของเที่ยวบินอยู่ที่ 72,548 เที่ยวบิน”
ดังนั้นททท.จึงต้องผลักดันให้ครึ่งหลังของปีนี้มีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินกลับเข้าไทยไม่น้อยกว่า 50% ในทุกเดสติเนชั่น ซึ่งจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 10.8 ล้านที่นั่ง จาก 6 เดือนแรกของปีนี้ที่เข้ามาแล้วที่ 17.33 ล้านที่นั่ง
4.การส่งเสริมการจัดโรดโชว์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และ 5. อยู่ระหว่างการหารือกับ ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ OTA เพื่อร่วมกันจัดทำโครงการในการกระตุ้น การท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามหากททท.ไม่ได้งบดังกล่าว จะทำให้ท่องเที่ยวไทยเสียโอกาส และรายได้ในภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมกว่า 2.65 แสนล้านบาท ประเมินจากการมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน มีการใช้จ่าย 50,000 บาทต่อคน รวมเป็น 50,000 ล้านบาท และไทยเที่ยวไทย มีการเดินทางจำนวน 50 ล้านคน-ครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,300 บาทต่อคนต่อวันสร้างการใช้จ่าย 215,000 ล้านบาท
“งบประมาณที่ขอมาใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ ซึ่งหากจะให้เราไปรบ ก็ควรให้อาวุธเราบ้าง ”นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย