รศ.ดร.นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงทางด้านการแพทย์และเมดิคอล ฮับ อยู่แล้วอดีตเราเคยเป็น destination ทางด้านสุขภาพเบอร์ต้น ๆ ของโลก ซึ่งจุดแข็งของประเทศไทยคือ ระบบการบริการที่มีมาตรฐานทางการแพทย์แบบตะวันตกที่ค่อนข้างชัดเจน มีเทคโนโลยีในการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนในระดับสูง ราคาค่อนข้างชัดเจนและไม่สูงมากเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป
และอีก 1 ประเด็นคือเรื่องอาหารการกิน ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่อาหารฮาลาลค่อนข้างมีชื่อเสียง บวกกับการบริการและอุปนิสัยของคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะฉะนั้นประเทศไทยแทบจะไม่มีบริบทที่เป็นอุปสรรค สำหรับคนไข้ต่างชาติที่จะเข้ามารับการรักษาเลย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากปัจุบันไปจนถึงสิ้นปี 2565นี้ ไม่ว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยจะเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่ แต่ปัจุบันมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเข้ามาถึง 70% ของภาพรวม และหากเสริมด้วยประเทศขนาดใหญ่อย่าง “ซาอุดิอาระเบีย” ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วย จะทำให้ฐานลูกค้ากลุ่มนี้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยและสิ่งที่จะเชื่อมโยงตามมาคือ คือตลาดแรงงาน เฮลท์แคร์ สินค้าต่าง ๆ และอาหารฮาลาล
“คาดว่าตลาด healthcare ประเทศไทยปีหน้าจะเติบโตมาก หลังจากนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามา เพราะช่วงก่อนโควิดไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน เป็นคนจีน10 ล้านคน และมี 6-8% ที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเป็น medical tourism ทำรายได้ประมาณแสนกว่าล้าน และตอนนี้ก็เริ่มทยอยกลับแล้วซึ่งเรายังไม่มีคู่แข่งทางตรงเพราะเราขายสินค้าเฉพาะ"
“ซาอุดิอาระเบีย”เป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างใหญ่กว่าประเทศอื่นและมีเศรษฐกิจฐานะค่อนข้างดีในตะวันออกกลาง เมื่อเราเปิดประเทศก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนที่จะเข้ามารักษาในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น สำหรับ BCH ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้มีการ matching ธุรกิจเฮลท์แคร์กับพันธมิตรฝั่ง “ซาอุดิอาระเบีย” ที่เข้ามาเยี่ยมชมกิจการในเครือ BCH เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ ทาง BCH จะเดินทางเข้าไปศึกษาเยี่ยมชมพันธมิตรใน “ซาอุดิอาระเบีย” รวมทั้งมองหาแนวทางร่วมมือทางธุรกิจโดยเน้นไปที่การรักษาพยาบาลเป็นหลักก่อนในช่วงแรกจะเป็นการพาคนไข้เข้ามารักษาในประเทศไทยซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเพราะตลาด “ซาอุดิอาระเบีย”เป็นตลาดที่ใหญ่ระดับหนึ่ง
“ “ซาอุดิอาระเบีย”ต้องการเป็นศูนย์กลางของตะวันออกกลาง ความร่วมมือที่เราเข้าไปคุยก่อนหน้านี้จะเป็นพูดคุยกันในเรื่องของการรักษาพยาบาลและ health care เป็นหลัก ซึ่งเขาก็เชิญเรากลับไปเยี่ยมเยียนประเทศเขาในเดือนหน้าเพื่อไป ไลน์อัพ ในเรื่องของอินฟราสตรัคเจอร์และแพลตฟอร์มที่จะส่งคนไข้เข้าประเทศไทย ในช่วงแรก รวมไปถึงช่องทางการผ่อนผันหรือแนวทางการทำงานร่วมกันทั้งในประเทศไทยและในประเทศของเขาด้วย
ซึ่งหากเราสามารถตอบโจทย์เขาได้ก็จะเริ่มส่งคนไข้กลับเข้ามาหลังจากที่ทุกอย่างนิ่งแล้ว เราเชื่อว่าตลาดนี้จะเป็นตลาดเสริมของตะวันออกกลางที่ใหญ่กว่าปกติ ที่สำคัญเราต้องดูว่าเป้าหมายทางด้านเฮลท์แคร์ของบ้านเขาเป็นอย่างไรซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษามาก ๆ เพราะการมีโรงพยาบาลในต่างประเทศกว่าจะทะลุปรุโปร่งในข้อกฎหมายบ้านเขาไม่ใช่เรื่องง่าย”