BJC–PRG ปรับแผน คุมเข้มการผลิต ขนส่ง สู้ต้นทุนพุ่ง ต้นทุนพุ่ง

07 ส.ค. 2565 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2565 | 11:27 น.

2 ยักษ์เร่งปรับแผนสู้วิกฤต “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” คุมเข้มภาคการผลิต ขนส่ง ยอมรับปรับขึ้นราคาสินค้า ควบลดปริมาณ ทำตลาดช็อคยอดขายหาย เล็งอัดการตลาด โปรโมชั่นกระตุ้น “พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น” ปาดเหงื่อต้นทุนปุ๋ย ทำราคาข้าวถุงพุ่ง แนะบริหารจัดการสต็อก

ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งไปอยู่ระดับ 7.66% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสุงสุดในรอบ 13 ปี ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการเองต่างต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนค่าการผลิต การขนส่ง รวมไปถึงการบริหารจัดการที่สูงขึ้น การดิ้นรนเพื่อพยุงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

 

จึงมีทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้า การปรับลดขนาดสินค้า ลดปริมาณเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แต่จะเพียงพอหรือไม่ ยังต้องจับตาดูต่อไป ขณะที่แบรนด์ชั้นนำต่างออกมายอมรับว่า ต้องปรับแผนเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้

              

นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า ธุรกิจกระดาษทิชชูยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายโดยเฉพาะด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเยื่อกระดาษที่ใช้ในการผลิตมีการนำเข้าจากแคนาดาก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่า 40 %

 

จากปัญหาโลจิสติกส์หลังจากที่โควิดระบาดมาได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งบริษัทได้จัดการการผลิต ปรับสัดส่วนการใช้เยื่อกระดาษเพื่อทำให้ผลกระทบทางด้านต้นทุนต่ำ โดยใช้เยื่อใยสั้นในตลาดมากขึ้นและลดการใช้เยื่อใยยาวที่ต้องนำเข้าให้น้อยลงเพื่อลดต้นทุนจากค่าโลจิสติกส์และค่าเงิน ทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันและตอบสนองตลาดได้

BJC–PRG ปรับแผน คุมเข้มการผลิต ขนส่ง สู้ต้นทุนพุ่ง ต้นทุนพุ่ง

“ผลกระทบเรื่องของค่าขนส่ง ค่าระวางในช่วงที่ผ่านมา บริษัทแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงทางด้านการซื้อและเรื่องของการจัดการในเรื่องของค่าเงินเพื่อลดผลกระทบความแปรปรวนทางด้านค่าเงิน พร้อมจัดการสต๊อกเยื่อใยยาวให้ใช้งานได้ประมาณ 5-6 เดือน จากนั้นลดสต๊อกเยื่อใยสั้นและไปเพิ่มสต๊อกใยยาว เพราะเยื่อใยสั้นสามารถซื้อในประเทศได้ ทำให้สามารถลดผลกระทบทางด้าน exchange rate ไปพอสมควร”

 

ในครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มว่าบริษัทจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่จะเป็นแรงกดดันต่อการผลิตสินค้า นอกจากนี้ยังมีการจ้างแรงงานเพิ่มหลังจากติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องมีการปรับขึ้นแรงงานซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทพยายามที่จะลดต้นทุนเพื่อที่จะไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากเกินไปนัก

              

“บริษัทมีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ยๆในทุกรายการ รวมทั้งมีการปรับทั้งในเรื่องของความยาวแผ่นและเรื่องของราคา ซึ่งรวมกันเฉลี่ยประมาณ 3-5%”

BJC–PRG ปรับแผน คุมเข้มการผลิต ขนส่ง สู้ต้นทุนพุ่ง ต้นทุนพุ่ง               

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันจากภาวะโควิด ทำให้ดีมานด์การใช้ทิชชูเพิ่มขึ้นส่งผลให้ยอดขายมีการเติบโต และปัจจุบันผู้คนเริ่มออกมาทำงานและใช้ชีวิตปกติ จึงมีการใช้งานมากขึ้น เมื่อต้นทุนคงที่ต่างๆ ถูกกระจายออกไปก็ช่วยได้เยอะ นอกจากนี้บริษัทยังพยายามลดต้นทุนในส่วนอื่นทั้งติดโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงาน ลดwest และใช้การบริหารต้นทุนควบคู่ไปกับการหารายได้เข้ามา เพื่อทำให้ผู้บริโภคกระทบน้อยที่สุด

              

“ในกลุ่ม บีเจซี ในพอร์ตสินค้าอุปโภคบริโภค กระดาษทิชชูและสบู่ เป็น 2 ตัวที่ต้นทุนขึ้นเยอะที่สุดจากราคาน้ำมันปาล์มส่วนสแน็คต้นพุ่งสูงขึ้นเช่นกันแต่อิมแพคยังน้อยกว่ากระดาษทิชชูและสบู่ ผู้บริโภคเวลาที่เกิดต้นทุนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับในเรื่องของปริมาตร และราคาก็จะทำให้เกิดการช็อคไปประมาณ 2-3 เดือน

 

แต่หลังจากนั้นผู้บริโภคก็จะปรับตัวได้ประกอบกับราคาน้ำมันที่เริ่มจะอ่อนลง ถ้าสถานการณ์ไม่แย่ไปกว่านี้ ผู้บริโภคก็อาจจะใช้เวลาช่วงหนึ่งในการปรับตัว และเชื่อว่าเมื่อถึงช่วงปลายปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา mood and tone การจับจ่ายก็น่าจะดีขึ้น”

              

ผู้บริหารกล่าวยอมรับว่า ไม่สามารถปฏิเสธการแข่งขันทางด้านราคาได้ โดยบริษัทได้เตรียมงบประมาณสำหรับทำการตลาดและส่งเสริมการขาย เพื่อกะตุ้นการซื้อ ซึ่งปัจจุบันในตลาดทิชชู บีเจซีมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเน้นในกลุ่ม B2C เป็นหลัก 80- 90% และ B2Bและ OEM ประมาณ 10%

              

“ในอนาคตเราต้องการเป็นผู้นำในตลาดทิชชูทุก segment ทั้ง B2C และ B2B ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่เราลงทุนเครื่องจักรใหม่ก็เพื่อรองรับการเติบโตตรงนี้ซึ่งคาดว่าจะช่วยดันยอดขาย 3-5 ปีข้างหน้าให้เติบโตตามภาพรวมอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเฉลี่ย 4-5%”

BJC–PRG ปรับแผน คุมเข้มการผลิต ขนส่ง สู้ต้นทุนพุ่ง ต้นทุนพุ่ง               

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวมาบุญครอง กล่าวว่า ทิศทางราคาข้าวถุงมีต้นทุนสูงขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันตอนนี้ถือว่าเป็นปลายฤดูของปีที่แล้วและอีก 2-3 เดือนข้างหน้าข้าวฤดูกาลใหม่ก็จะออกมาเพราะฉะนั้นโดยแนวโน้มคาดว่าน่าจะทรงตัว

 

เพราะผลผลิตในฤดูกาลใหม่จะเข้ามาช่วยชดเชยรายได้ในปีนี้ที่แบกรับภาวะของผู้บริโภคมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้ รวมทั้งพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายและตรึงราคาแม้ว่าต้นทุนจะพุ่งสูงขึ้นดังนั้นผู้ประกอบการก็พยายามที่จะอดทนไปจนถึงช่วงเวลาข้าวใหม่ที่จะออกมา

              

ทั้งนี้ต้นทุนตลาดสำหรับวัตถุดิบสำหรับคนที่ไม่มีสต๊อกวัตถุดิบเลย ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับต้นทุนประมาณ 30% จากราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจข้าวถุงทุกๆ ผู้ประกอบการจะพยายามเตรียมความพร้อมโดยสต๊อกตัววัตถุดิบเอาไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลในระดับหนึ่ง และตัววัตถุดิบในปีนี้ไม่เชื่อว่าจะลดลงมากสำหรับฤดูกาลหน้าส่วน แนวโน้มการใช้ปุ๋ยราคาสูงขึ้นที่สืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาปุ๋ยปรับตัวขึ้นมา 2-3 เท่าตัวรวมถึงปริมาณของปุ๋ยนำเข้าลดน้อยลง ซึ่งชาวนาคือผู้ใช้ปุ๋ยหลักกว่า 50% ของการนำเข้า

              

“ปุ๋ยจะทำให้ต้นทุนของชาวนาเพิ่มมากขึ้น และทำให้ราคาขายข้าวถุงในตลาดส่วนหนึ่งก็คงจะเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่ยังเชื่อว่าปริมาณข้าวใหม่ที่จะออกมาก็อาจจะทำให้ลดราคาลงมาได้บ้างแต่อาจจะไม่เท่ากับปีที่แล้วก็ถือว่าเราชดเชยน้อยลง และสามารถที่จะพยุงราคาเดิมกันไปได้ แต่เมื่อต้นทุนวัตถุดิบของชาวนาเพิ่มมากขึ้นเราอาจจะใช้เงินซื้อวัตถุดิบแพงขึ้นหน่อยแต่ก็ยังพอมีเหลือบ้างที่จะรักษาราคานี้ไว้”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,807 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565