นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. วันนี้ เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2565 โดยมีทั้งมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงการคลัง
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่ามาตรการที่ออกมาจะแยกเป็นส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 คือ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมของกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 14 มาตรการ ประกอบด้วย กรมสรรพากร 5 มาตรการ กรมศุลกากร 2 มาตรการ กรมสรรพสามิต 1 มาตรการ กรมบัญชีกลาง 2 มาตรการ กรมธนารักษ์ 2 มาตรการ และการยาสูบแห่งประเทศไทย 2 มาตรการ ให้มีผลตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กรมสรรพากร ประกอบด้วย
- มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า
- มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย
- มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565
- มาตรการในระยะถัดไป : บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2. กรมศุลกากร
- ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565
3. กรมสรรพสามิต
- ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
4. กรมบัญชีกลาง
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้
5. กรมธนารักษ์
- ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552
6. การยาสูบแห่งประเทศไทย
- ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ส่วนที่ 2 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 9 มาตรการ มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน 1 มาตรการ มีรายละเอียด ดังนี้
1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการพักชำระหนี้
- มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
- มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ
- มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ
- มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้
- มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566
- มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบัน
- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่
- มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้
- มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับผู้มีกรมธรรม์ประกันภัย
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
- มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565
6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว
- มาตรการเพิ่มวงเงินกู้
- มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย
- มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.
ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ จะมีผลตั้งแต่วันที่ธนาคาร/สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศเป็นต้นไป
"นายกรัฐมนตรี ยังกำชับทุกส่วนราชการ ต้องสร้างการรับรู้ว่าประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรบ้าง และเร่งดูแลเยียวยาโดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการที่ขัดเจน ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ขัดต่อกรอบนโยบายหรือกฎหมายด้วย" โฆษกรัฐบาล ระบุ