จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มูลค่ากว่า 6,695 ล้านบาท ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม เสนอ
แม้ในรายละเอียดของโครงการกระทรวงคมนาคม จะบรรยายความเหมาะสมและประโยชน์ที่จะได้รับ หลังจากโครงการแล้วเสร็จไว้อย่างครบถ้วน แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะครม.ได้มีข้อสังเกตุถึงเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้เพิ่มเติมด้วย
อ่านข่าวประกอบ : ครม. ทุ่มงบ 6.7 พันล้าน สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา -สะพานเชื่อมเกาะลันตา
โดยในที่ประชุม ครม. ได้หารือถึงกรณีการก่อสร้างโครงการนี้ พร้อมกำชับว่าในการดำเนินโครงการก่อสร้าง จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 2 โครงการ พบข้อมูลสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
เรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แจ้งในที่ประชุมครม.ว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้ทาบทามขอกู้เงินจากธนาคารโลกในโครงการนี้ แต่ติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากธนาคารโลกเป็นห่วงเรื่องการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัวเท่านั้น
เนื่องจากมีเฉพาะที่นี่เป็นฝูงสุดท้าย ซึ่งอาจจะต้องอาศัยความรู้จากต่างประเทศ ไม่ให้มีผลกระทบกับโลมา อาจจะย้ายถิ่นที่อยู่ หาวิธีดูแล อาจจำเป็นต้องใช้ Man-Made Environment หรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เพราะถ้ากระทบกับสิ่งแวดล้อมธนาคารโลก จะไม่ให้กู้เงิน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้สอบถามว่า โลมาอิรวดีมาจากไหน และเหลือแค่ในประเทศไทยใช่หรือไม่
จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้อธิบายว่า โลมาอิรวดีมาจากลุ่มน้ำอิรวดี แต่จำนวนลดลงมาก จึงอาจจะใช้ Man-Made Environment แทนที่จะปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่ง นายอาคม กล่าวเสริมขึ้นว่า สาเหตุที่โลมาอิรวดีลดลง เป็นเพราะการทำประมง โดนอวน และโลมาชนิดนี้ ออกทะเลไม่ได้ เพราะจะทำให้อ่อนแอ สืบพันธุ์ไม่ได้ ต้องหาอนุรักษ์ อาจต้องใช้เทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาช่วย
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบที่ประชาชนใช้ประโยชน์มาก การทำอะไรค่อนข้างมีผลกระทบกับโลมาอิรวดี ดังนั้นจึงควรจะหาทางโยกย้ายโลมาอิรวดี และควรให้สำคัญเรื่องนี้ ซึ่งทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้มีผลกระทบต่อโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัว และต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมครม. จึงเห็นว่า ในประเด็นเกี่ยวกับธนาคารโลก ซึ่งจะเป็นผู้ให้กู้ตามโครงการนี้ยังได้แสดงความห่วงใยมานั้น ก็ขอให้กระทรวงการคลัง ประสานกับธนาคารโลกและหน่วยงานต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันผลจากโครงการก่อสร้างไม่ให้กระทบสัตว์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองออกมาให้ชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลของ “โลมาอิรวดี” หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง พบว่า เป็นหนึ่งในสัตว์หายาก และมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
โดยมีลักษณะเด่นของ “โลมาอิรวดี” คือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีขนาดประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนัก 3.21 กิโลกรัม
“โลมาอิรวดี” ได้รับการค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ปัจจุบันถึงแม้ว่าสามารถพบโลมาในเขตแม่น้ำและทะเลในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลก
บริเวณที่พบจำนวน “โลมาอิรวดี” มากที่สุดอยู่ในทะเลสาบจิลิกา รัฐโอฑิศา ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในภาคใต้ของประเทศไทย ขณะเดียวกันในปี 2459 มีรายงานว่าพบอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และเคยมีผู้จับ “โลมาอิรวดี” ได้ที่คลองรังสิต ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยระบุว่า โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาเหลือเพียงแค่ 14 ตัว นับถอยหลังวันสูญพันธุ์
โดยในโลกนี้มี โลมาอิรวดี ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย กว่า 140 อินโดนีเซีย 90 เมียนมาร์ 80 กัมพูชา 90 และไทย 14 ตัว ในทะเลสาบสงขลา คือ สถานที่แห่งแรกในโลก ที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์