ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ซีด ผิดสัญญา สคบ.ฟันคุก-ปรับหนัก

20 ต.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 14:29 น.

ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ต้องรู้ สคบ. ชี้แจงออกกฎหมายคุมสัญญาการเช่าซื้อ ผู้ประกอบการรายใดทำผิด เจอโทษหนักทั้งปรับ และจำคุก ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

นายอุฬาร จิ๋วเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้ว เพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจาก ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ได้มากขึ้น 

 

สำหรับการดำเนินการดังล่าว ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อเป็นการหามาตรการในการช่วยเหลือผู้บริโภคและแก้ไขปัญหาหนี้สินของผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับรายได้และได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ จากสถานการณ์โควิด-19 โดยกำหนดแนวทางควบคุม หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ สคบ.

สำหรับอัตราโทษ หากผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ทำผิดสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 จะได้รับโทษ ดังนี้

  • กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 57
  • ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ภาพประกอบข่าว ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ สคบ.

ทั้งนี้ภายใต้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ที่ สคบ. ออกมาครั้งนี้ กำหนดสาระสำคัญไว้หลายส่วน สรุปได้ 4 ส่วนหลัก ดังนี้ 

 

1.การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มี 3 ประเภท 

  • รถยนต์ใหม่ ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี
  • รถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี
  • รถจักรยานยนต์ ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี

 

2.หากผู้บริโภคนำเงินมาชำระค่างวดครบก่อนกำหนด (ปิดบัญชี) จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยในการปิดค่างวดเป็นขั้นบันได มี 3 กรณี ดังนี้ 

  • ชำระค่างวด ไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับส่วนลด ไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
  • ชำระค่างวด 2 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับส่วนลด ไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 
  • ชำระค่างวด เกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับ ส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

 

3. ติ่งหนี้ในกรณีนำรถออกขายทอดตลาด 

  • หากผู้บริโภคถูกยกเลิกสัญญา และผู้ให้เช่าซื้อนำรถออกขายทอดตลาด โดยปกติแล้วผู้บริโภคต้องรับผิดชอบค่างวดที่ค้างอยู่ตามสัญญาประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งประกาศฉบับนี้ให้คิดได้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น 

 

4. การคิดเบี้ยปรับในการผิดนัดชำระ

  • กรณีผู้บริโภคชำระค่างวดล่าช้า หรือผิดนัดชำระค่างวด ผู้ให้เช่าซื้อสามารถคิดเบี้ยปรับจากผู้บริโภคได้ไม่เกินอัตราร้อยละห้าต่อปี โดยคำนวณจากยอดเงินที่ผิดนัดชำระ

 

นายอุฬาร กล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะสัญญาเช่าซื้อที่ทำตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อที่ทำก่อนวันที่ 10 มกราคม 2566 ยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา

 

“ในช่วงระหว่างการรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ สคบ. จะทำการชี้แจงกลุ่มส่วนต่าง ๆ ให้เข้าใจถึงกฎหมายการควบคุมสัญญาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงเรื่องนี้ด้วย” นายอุฬาร ระบุ