กรณีของการเจรจาเพื่อหาข้อยุติเรื่องเขต พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้รองรับวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ ล่าสุดมีความเห็นจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
หลังจาก ในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เริ่มการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วมขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องนี้กับฐานเศรษฐกิจ หลังจากเข้ามาประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ตอนนี้มีหน่วยงานภายในกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดูแลทางด้านกฎหมายเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน
“กระทรวงการต่างประเทศ จะพยายามดูเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้เกิดความชัดเจนก่อน ส่วนจะปฏิบัติได้หรือปฏิบัติไม่ได้ก็คงต้องมารอดูอีกครั้งก่อน โดยข้อสรุปยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เพราะทุกหน่วยงานกำลังร่วมกันศึกษาอยู่” นายดอน กล่าว
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า การเจรจาเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ผ่านมาคณะของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีกระทรวงพลังงานอยู่ด้วยได้หารือกันไปแล้ว 1 รอบ และในเร็ว ๆ นี้ น่าจะหารือกันในรอบที่ 2 คาดว่าเรื่องทั้งหมดน่าจะได้ข้อสรุป ภายใน 3 เดือนนี้
“จะพยายามในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เหลืออยู่ของรัฐสภา โดยเรื่องใหม่ ๆ ก็ว่ากันไป และอะไรที่พูดไว้แล้วก็ทำให้จบ” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ