รื้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” รัฐปรับกิจการ-สิทธิประโยชน์ล็อตใหญ่

21 ต.ค. 2565 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 15:55 น.

นายกฯ ประชุม กพศ. สั่งรื้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” เตรียมปรับกิจการ-สิทธิประโยชน์ล็อตใหญ่ รองรับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่เปลี่ยนไป

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่เปลี่ยนไป และเพิ่มโอกาสการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะ SME

 

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบไปด้วย จังหวัดตาก สงขลา สระแก้ว ตราด เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กาญจนบุรี และนราธิวาส

 

ภาพประกอบข่าวประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ การทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง มีรายละเอียด ดังนี้

  • เพิ่มเติมประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนอีก 17 ประเภทกิจการ (จาก 72 ประเภทกิจการ เป็น 89 ประเภทกิจการ) โดยตัวอย่างประเภทกิจการที่เสนอเพิ่มเติม เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น 
  • ปรับมาตรการสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (โดยจะเริ่มปี 2566) ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนใน 13 กลุ่มกิจการ 89 ประเภทกิจการ ทั้ง 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอบอร์ด BOI พิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบ 

 

พร้อมทั้งมอบหมายอนุกรรมการภายใต้ กพศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และการประกอบธุรกิจ (Business Ecosystems) อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศูนย์ OSS การลดขั้นตอนอนุมัติอนุญาตในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ

 

ภาพประกอบข่าวคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนให้เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามข้อเสนอของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุ ที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 

 

โดยมีรูปแบบโครงการลงทุนเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าโดยเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวมประมาณ 830 ล้านบาท เนื้อที่ประมาณ 1,076 ไร่ ประกอบด้วย 

  • พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ร้อยละ 53 (564 ไร่) 
  • พื้นที่สำนักงาน/ศูนย์จำหน่ายสินค้า/ศูนย์ประชุม (Amenity Core) ร้อยละ 5 (57 ไร่) 
  • พื้นที่สีเขียว (Green Space) ร้อยละ 15 (159 ไร่) 

 

ทั้งนี้ให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทางราชการต่อไป 

 

ภาพประกอบข่าวคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ