ฟังความเห็น ธปท. มอง “ต่างชาติถือครองที่ดิน” ก่อนเจอปมขายชาติ

31 ต.ค. 2565 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 14:16 น.

ฟังความเห็น ธปท. หลังรัฐบาลเคาะร่างกฎหมาย “ต่างชาติถือครองที่ดิน” ไม่เกิน 1 ไร่ ก่อนเจอปมขายชาติ ไปดูกันว่า แบงก์ชาติ มองยังไง โดยเฉพาะกฎเหล็กควบคุมการลงทุน

จากกรณีที่ประชุมครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... หรือ การเปิดให้ ต่างชาติถือครองที่ดิน ในประเทศไทย

 

โดยครอบคลุมต่างชาติ 4 ประเภท คือ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ผ่านให้สิทธิการถือครองที่ดิน เพื่อขอใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ 

 

แต่ท้ายที่สุดการอนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้กลายเป็นกระแสบานปลาย หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากครม.นี้ เป็น "กฎหมายขายชาติ"

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวร่างกฎหมายต่างชาติถือครองที่ดินในไทย

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีความคิดเห็นถึงกรณีกฎหมายฉบับนี้ออกมาอย่างหลากหลาย ทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักการเมือง แต่อย่างไรก็ดียังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับร่างกฎหมายให้ต่างชาติถือครองที่ดิน นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.

 

สำหรับความเห็นของ ธปท. นั้น ได้ระบุเอาไว้ในเอกสารนำเสนอครม. ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ....

 

ภายใต้เอกสารดังกล่าว ได้รวบรวมความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบการพิจารณาของครม. โดย ธปท. แสดงความคิดเห็นว่า ธปท. ไม่ขัดข้องกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อสังเกต เกี่ยวกับต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี สรุปได้ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าวร่างกฎหมายต่างชาติถือครองที่ดินในไทย

หนังสือรับรองการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรที่ ธปท.เป็นนายทะเบียน ตามระเบียบ ธปท. ว่าด้วยบริการธุรกรรมตราสารหนี้ เป็นการรับรองสถานะกรรมสิทธิ์การถือครองพันธบัตรดังกล่าว ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรับรองได้ว่า คนต่างด้าวจะดำรงการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวเป็นเวลาไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีตามที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงฯ 

 

ดังนั้น อาจต้องมีกระบวนการเพื่อควบคุมให้คนต่างด้าว จะลงทุนในกิจการและธุรกิจที่กำหนดครบระยะเวลา 3 ปี เช่น การกำหนดให้มีการนำพันธบัตร ไปจดบันทึกการใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันที่ ธปท. จนครบระยะเวลา 3 ปี เพื่อป้องการการถอนเงินลงทุนหรือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหนังสือถึง ธปท. เพื่อขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรของคนต่างด้าวเป็นประจำทุกครึ่งปี

 

ขณะเดียวกัน ธปท. สามารถออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในพันธบัตรที่ ธปท. เป็นนายทะเบียนเฉพาะกรณีที่ผู้ลงทุนถือพันธบัตรประเภทมีใบตราสาร (Scrip) เท่านั้น

 

สำหรับผู้ลงทุนที่ถือพันธบัตรประเภทไร้ใบตราสาร (Scripless) ที่ ธปท. เป็นนายทะเบียน ธปท. สามารถออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตราสารหนี้ในบัญชีย่อยตราสารหนี้ 
เพื่อการทำธุรกรรมกับ ธปท. เท่านั้น ตามระเบียบ ธปท. ว่าด้วยบริการธุรกรรมตราสารหนี้ หากไม่ใช่เพื่อการทำธุรกรรมกับ ธปท. ผู้ลงทุนจะต้องขอหนังสือรับรองจากผู้ดูแลหลักทรัพย์ที่ตนเปิดบัญชีไว้