"วิษณุ"แจงต่างด้าวถือครองที่ดิน มีทั้งหนุน-ต้าน ถ้าค้านมาก พร้อมทบทวน

31 ต.ค. 2565 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 14:16 น.

"วิษณุ"แจงปม ครม.มีมติให้ต่างด้าวถือครองที่ดิน มีทั้งเสียงเรียกร้อง-ต่อต้าน ชี้ถ้ากระแสค้านมาก พร้อมนำมาทบทวนอีกครั้งได้ หลังกฤษฎีกาพิจารณา

วันที่ 31 ต.ค.2565  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ว่า แม้ครม. จะมีมติอนุมัติในหลักการไปแล้ว แต่ยังสามารถมีการทบทวนร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้

 

จากนี้ครม.จะต้องส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วต้องส่งกลับมาที่ครม.อีกครั้ง ส่วนที่มีการเสนอความคิดเห็นต่างๆเข้ามา ก็สามารถเสนอเข้ามาได้

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่อง การให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย จะเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปี 2531 ต่อมาปี 2545 ก็ได้มีการร่างกฎกระทรวงออกมาในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติที่มีเงินลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเข้ามาซื้อที่ดินได้คนละไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัย

 

รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควร หลักเกณฑ์เดิมที่เคยมีในตอนนั้นบางเรื่องถือว่าตึงเกินไป แต่บางเรื่องก็หละหลวมเกินไป เราจึงอยากจำกัดหลักเกณฑ์ผู้ที่มาซื้อที่ดิน ในประเทศว่าไม่ใช่ให้ใครก็ได้เพียงแค่มีเงิน 40 ล้านบาท จึงได้กำหนดกลุ่มคนต่างชาติ 4 ประเภท เพื่อกำหนดคนผู้ได้รับสิทธิ์ให้วงแคบลง

 

 ขณะเดียวกันมีการเพิ่มเงื่อนไข หรือปรับบางอย่างก็ได้ อย่างไรก็ตามที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกันในขณะนี้ บางคนก็เสนอให้มีการเติมเงื่อนไข ซึ่งรัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณา อาทิ ข้อเสนอที่ห้ามมีการนำไปขายต่อ ห้ามมิให้ผู้ซื้อที่ดินนำที่ดินมาต่อรวมกัน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางฝ่ายเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ จาก 40 ล้านบาทให้เป็น 100 ล้านบาท นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอีกครั้ง รัฐบาลหวังเพียงอยากให้มีคนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน และคิดว่าข้อกำหนดเรื่องจำนวนเงิน 40 ล้านบาท ก็คิดว่าน่าจะมากพอหากเป็นเรื่องของการก่อสร้าง

 

แต่ถ้าจะไปนับรวมที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะมีการกำหนดโดยแยกรายละเอียดอีกครั้ง ว่าแต่ละส่วนนั้นต้องมีมูลค่าเท่าไหร่อย่างไร

 

เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่ลดลงมาจาก 5 ปีแล้วนั้น คิดว่าจะต้องกลับไปเป็นตามหลักเกณฑ์เดิมได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กำลังดูแนวโน้มจากกรณีของต่างประเทศว่าเขามีการลดหย่อนกันอย่างไร

 

ส่วนกรณีที่มีนักธุรกิจบางรายเสนอให้ใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ แทนเงินบาทนั้น ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า บางฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องใช้นอมินี หรือบางคนปลอมแปลงคุณสมบัติตัวเองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อมีสิทธิ์ซื้อที่ดินในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงดังกล่าว

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนอมินี มีมาตั้งแต่ปี 2470 จึงทำให้เกิดปัญหา อาทิ กรณีหญิงไทยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ แล้วสามีให้ภรรยาชาวไทยเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนด้วยเงินของสามี อย่างนี้ก็เรียกว่า นอมินี ชนิดหนึ่ง

 

ส่วนกรณีที่บอกว่ากฎกระทรวงฉบับปี 2545 มีชาวต่างชาติที่เข้าหลักเกณฑ์มาซื้อที่ดินในไทย เพียง 8 รายนั้น อันที่จริงมีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อมากกว่านั้น แต่ที่พบเป็นชิ้นอันรวมแล้ว 100 กว่าตารางวา ส่วนกรณีที่มีการพูดกันว่ามี 8 ราย เป็นกรณีที่มีผู้ซื้อรายละ 1 ไร่ แต่ผู้ที่มาซื้อที่พักอาศัยอยู่ในบ้านจัดสรรพื้นที่เป็น100ตารางวานั้น มีจำนวนมากมายเหลือเกิน และที่สำคัญเรื่องของคอนโดมิเนียมก็มีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อตั้งนานแล้ว

 

เกณฑ์ปัจจุบันที่อยู่ในร่างกฎกระทรวงมหาดไทย จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนอมินีได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่ายังต้องมีการพิจารณาอีกมาก เพราะร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรก ทุกครั้งที่พูดถึงกันเรื่องขายที่ดินให้ชาวต่างชาติ ก็มักจะมีการพูดถึงเรื่อง ขายชาติ และจะมีอีกฝ่ายออกมาตอบโต้ว่าไม่ใช่การขายชาติ เพราะ คนต่างชาติเหล่านั้นไม่สามารถนำที่ดินหนีบรักแร้กลับไปประเทศของเขาได้ จึงมีการเถียงกันอย่างนี้มาตลอด

 

ตนอยู่มาตั้งแต่สมัยพล.อ.ชาติชาย ที่เสนอเรื่องนี้ แต่ ในตอนนั้นทำไม่สำเร็จจึงได้เลิกไป จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายทักษิณก็ทำได้สำเร็จ และบังคับใช้เรื่อยมา การปรับเกณฑ์ก็เพราะอยากให้เพิ่มจำนวนคนซื้อ มากขึ้น

 

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลเปลี่ยนใจให้พักเรื่องนี้ไปก่อน จะส่งผลอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีกระแสต่อต้านมาก นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ามีกระแสต้านเข้ามามาก รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม มีทั้งเสียงเรียกร้องและเสียงคัดค้านเรื่องดังกล่าว