ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และ ประธานกรรมการในเครือบริษัทวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป เปิดเผยถึงกรณี ต่างชาติถือครองที่ดิน ว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโปรโมทกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถซื้อที่ดินในประเทศไทย แลกกับนำเงิน 40 ล้านบาทเข้ามาลงทุนเป็นเวลา 3 ปี ในพันธบัตร กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และในหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริม (BOI)
นัยของมาตรการนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด รวมทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง รวมถึงนักเก็งกำไรจากจีนหายไปจากพิษเศรษฐกิจรุนแรงมากสุดในรอบหลายทศวรรษ
กระแสไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้เข้าสู่สัปดาห์ที่สองกระแสไม่ได้แผ่วลง ไม่ต้องกล่าวถึงพรรคการเมืองหรือผู้อยู่คนละขั้วกับ “บิ๊กตู่” แม้แต่แฟนคลับ “FC” และบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่เลือกข้างจำนวนมากออกมาไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาต่างชาติ
โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้ามาเก็งกำไรและครอบงำธุรกิจทั้งสีขาวและสีเทา ปรากฏเป็นที่รับรู้แบ่งเป็นย่านเช่น ถนนรัชดา, ห้วยขวาง, หลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยขยายไปชานเมือง เมื่อไปอย่างนี้จะไม่ให้ชาวบ้านกังวลคงไม่ใช่
ก่อนอื่นแนวคิดการให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินไม่ใช่พึ่งมีในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมามีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตั้งแต่พ.ศ.2545 “รัฐบาลคุณประยุทธ์ฯ” ปัดฝุ่นหลักเกณฑ์เกือบเหมือนเดิม
เพียงแต่เปลี่ยนจากระยะเวลาลงทุนจากเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปีกลัวขายที่ดินไม่ออกแก้เป็นเหลือ 3 ปี ระบุกำหนดบุคคล 4 กลุ่มได้แก่ ผู้มีฐานะมั่งคั่ง ผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศเป็นระยะเวลายาว (LTR. VISA) ผู้เกษียณจากงานและผู้มีความสามารถพิเศษในสาขาต่างๆ กำหนดรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่น้อยกว่า 6 หมื่นเหรียญสหรัฐเป็นเงินไทยประมาณปีละ 2.268 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเป็นรายเดือนไม่ถึงสองแสนบาท
คนมีรายได้ระดับนี้จะเรียกว่าผู้มีฐานะมั่งคั่งได้อย่างไร แม้แต่คนไทยรายได้ระดับนี้ไม่สามารถซื้อหรือผ่อนบ้านพร้อมที่ดิน 1 ไร่ในกทม.ได้
การกระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ข้อเท็จจริงคนต่างชาติสามารถซื้ออาคารชุดหรือคอนโดได้อยู่แล้ว ปีที่แล้วเฉพาะคนจีนซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วกว่าสองหมื่นสามพันล้านบาทส่วนใหญ่เพื่อการเก็งกำไร มีคอนโดเหลือมากมายขายไม่ออก แม้แต่ประเทศสปป.ลาวและกัมพูชาเจอหนักกว่าไทย
แต่ของเขานักลงทุนจีนสร้างและขายกันเอง ที่ต้องเข้าใจเบื้องต้นการนำเงินเข้ามาลงทุนตามมาตรการนี้เป็นเพียง “Cash Inflow” เข้ามาลงทุนในพันธบัตร, ตราสารหนี้, หุ้นนิติบุคคล ไม่ได้ส่งเสริมการใช้จ่ายหรือกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ได้สร้างการจ้างงาน ขณะที่เงินลงทุนเพียง 40 ล้านบาทหรือประมาณ 1.0 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับต่างชาติโดยเฉพาะนักเก็งกำไรเป็นเพียงเศษเงินเท่านั้น
ประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากกังวลจะทำให้มีการเก็งกำไรที่ดินไม่ใช่เพียงกทม.แต่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ เขตเทศบาลทั่วประเทศ ถึงจะกำหนดไว้ว่าต้องเป็นเขตที่อยู่อาศัยและเป็นไปตามกฎหมายผังเมือง
แต่ด้วย เงื่อนไขเม็ดเงินลงทุนไม่มากอาจทำให้เกิด “Nominee” รวมกลุ่มกันเข้ามากทำให้ราคาที่ดินสูงเกินกำลังที่คน ไทยจะซื้อได้ในอนาคต อีกทั้งอาจจะมีบ้านเช่าหรือเกสท์เฮ้าส์ที่เจ้าของเป็นต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจครบวงจร
หากรัฐบาลต้องการเดินหน้ามาตรการนี้ควรเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเป็นอย่างน้อย 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 189 ล้านบาท) ระยะเวลานำเงินกลับไม่ต่ำกว่า 5 ปีอีกทั้งต้องเพิ่มรายได้ของบุคคลเป้าหมายเฉลี่ยต่อปีจาก หลักการเดิม 60,000 เหรียญสหรัฐเงินเพียงเท่านี้ไม่ใช่รายได้ของผู้มีฐานะมั่งคั่งที่จะนำเงินมาใช้จ่ายกระตุ้น เศรษฐกิจได้มากมาย
ควรเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็นปีละ 1.6 แสนเหรียญสหรัฐหรือเฉลี่ยเดือนละห้าแสนบาท สำหรับคนต่างชาติเงินเท่านี้ไม่ใช่มากมายอะไร
นอกจากนี้การแก้ไขเกณฑ์การซื้อที่ดินต้องเข้ามาซื้อบ้านพร้อมที่ดินไม่ใช่ “ซื้อที่ดินสำหรับอยู่อาศัย” ข้อความนี้คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่างชาติซื้อที่ดินควรมีความชัดเจนว่าประเทศ ไทยอับจนอย่างไร จึงต้องขับเคลื่อนโครงการนี้ออกมา กลุ่มใดได้ประโยชน์เม็ดเงินที่ได้คุ้มกับที่ต้องเสีย
ประการสำคัญควรมีระยะเวลาของมาตรการไม่ใช่ “Open” ความเสียหายในอนาคตจะตามมา