รัฐบาลเล็งออกมาตรการช่วยค่าไฟฟ้า งวดใหม่ คาด ธ.ค.นี้ได้ข้อสรุป

22 พ.ย. 2565 | 09:27 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2565 | 16:30 น.

รัฐบาลเล็งออกมาตรการช่วยค่าไฟฟ้า งวดใหม่ หลัง กกพ. ประกาศแนวทางการคำนวณประมาณค่า FT รวม 3 ตัวเลือก รองนายกฯ รับขอให้รอความชัดเจน คาด ธ.ค.นี้ได้ข้อสรุป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาแนวทางการดูแลค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ขอดูแนวโน้มสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร

 

โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการคำนวณประมาณค่า FT สำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566

 

“ตอนนี้ได้รับทราบแล้ว แต่ก็ต้องไปดูสมมุติฐานว่าอย่างไร ตัวเลขมีเหตุมีผลอย่างไร โดยทั้งหมดนั้น จะต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง ประมาณต้นเดือนธันวาคม นี้ ว่าจะมีแนวทางอย่างไร จะปรับขึ้นแค่ไหน หรือมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือประชาชน โดยอาจจะมีแนวทางอื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 แนวทางด้วย”

ทั้งนี้ในเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาแนวทางการดูแลช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเดิมได้ช่วยเหลือประชาชน 2 กลุ่ม ว่าจะดูแลต่อไปอย่างไรได้บ้าง ประกอบด้วย

  1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 - ธันวาคม 2565 
  2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือนกันยายน 2565 - ธันวาคม 2565 แบบขั้นบันได ในอัตราร้อยละ 15 -75

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ได้เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. แบกรับในกรณีต่างๆ ดังนี้

  • กรณีที่ 1 ค่าเอฟที เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย