สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลจาก Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นองค์กรที่ สศช. และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP ตั้งขึ้น เพื่อเป็นห้องปฏิบัติด้านการนโยบายสาธารณะ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น "ความรุนแรงต่อผู้หญิง"
ทั้งนี้ตามข้อมูล ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อมูลจาก UN Women พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก โดย 27% ของผู้หญิง อายุตั้งแต่ 15-49 ปี เคยถูกคู่ของตนเองทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางเพศ
นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่ากังวลอย่างยิ่งที่มีผู้เคราะห์ร้ายมากขนาดนี้ในสังคมของเรา เพราะผลกระทบของความรุนแรงที่เหยื่อต้องประสบ ไม่ได้หยุดอยู่ที่ความเจ็บปวดทางกาย แต่ยังกระทบไปทุกด้านของชีวิตของคนคนหนึ่งอย่างที่เรียกกันว่า Well–being หรือความผาสุกในชีวิต
ความรุนแรงนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพทั้งทางกาย ใจ เพศ ระบบสืบพันธุ์ และในบางกรณีอาจมีความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศ รวมถึงเชื้อ HIV อีกด้วย
ทั้งนี้นอกจากสุขภาพแล้ว ยังมีผลกระทบทางลบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินส่วนตัว หรือครัวเรือนที่ถูกทำลายเสียหาย การขาดแคลนรายได้และการผลิตอาหารอันเป็นผลมาจากการไม่สามารถทำงานได้ทั้งแบบที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง ยังไม่นับว่าหากมีเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรง สุขภาพกายและใจของเด็กเองก็อาจได้รับผลกระทบทางลบไปอีกทอดด้วย
ขณะเดียวกันผลลัพธ์ของความรุนแรงนั้น หนักหนาสาหัสเหลือเกินกับมนุษย์คนหนึ่ง เป็นความเสียหายและเจ็บปวดที่ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ ภายในสหภาพยุโรป มีการประมาณการณ์ว่า
ผลกระทบเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นสูงถึง 2.26 แสนล้านยูโร หรือหากประมาณเป็นค่าเงินบาทไทยก็ประมาณ 8.38 ล้านล้านบาท โดย 12% ของความเสียหายนั้นคือค่าเสียโอกาส
นอกจากนี้ ผลการวิจัยส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าค่าความเสียหายของแต่ละประเทศที่เกิดจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (GBV) อยู่ที่ระหว่าง 2-6% ของ GDP ตามแต่ละประเทศและวิธีการคำนวณด้วย