ครม.หนุน "การบินไทย" เข้าตลาดหุ้น เพิ่มฝูงบิน

29 พ.ย. 2565 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 13:37 น.

ครม. หนุนการบินไทย เตรียมกลับเข้าตลาดหุ้น หลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟู พร้อมเพิ่มเครื่องบินให้บริการครบ 70 ลำ ในปี 2566

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 65 ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังการคลี่คลายของโควิด19 โดยสามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 6 เดือนแรกของปี 65 และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการเกิดโรคระบาด

 

ไตรมาสที่ 3/65 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท จากเดิมขาดทุน5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 64  และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBIDA) 6,181 ล้านบาท จากเดิม เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท 

 

โดยในเดือน ต.ค. 65 การบินไทย และสายการบินไทยสมายล์มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็น 30% ของผู้โดยสารต่างประเทศที่ผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็น 28% ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ส่วนในเดือนพ.ย.-ธ.ค. ก็มีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 15 พ.ย. 65 บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือ  32,031 ล้านบาท ส่งผลให้ต้องการสินเชื่อใหม่ลดลง จาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นประเภทละ 12,500 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ในปี 2565 มีอากาศยานที่อยู่ในการปฏิบัติการบินรวม 61 ลำ และมีการนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวม 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ และ บริษัท ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 แล้วจำนวน 2 ลำ

 

พร้อมได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 อีก 2ลำ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประจำการในฝูงบินต่อสำนักงานการบินพลเรือน และกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าอากาศยานทั้ง 4 ลำ จะเริ่มเข้าให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/66 ซึ่งจะทำให้ในปี 66 บริษัทฯ จะมีอากาศยานที่นำมาบริการรวม 70  ลำ

พร้อมเตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นเสนอขายแก่กลุ่มต่างๆ  5 กลุ่ม ได้แก่

  1. หุ้นจำนวน 4,911 หุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
  2. หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง(ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น 
  3. หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง 
  4. หุ้นจำนวน 1,904 ล้านหุ้น สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
  5. หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering) ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น  โดยในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน จะนำหุ้นไปเสนอขายแก่พนักงานบริษัท การบินไทยฯ และเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด(Private Placement) ตามลำดับ


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การบินไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้พิจารณาใช้สิทธิการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่ บริษัทฯ จะออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้บริษัทฯ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 32.7 และหากรวมการถือหุ้นของธนาคารของรัฐอื่นๆ อีกร้อย 10.4 จะทำให้เป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องการให้ให้รัฐถือหุ้นในการบินไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 40