นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 ว่า เศรษฐกิจปีหน้า เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะจะมีปัจจัยที่ท้าทายกว่าปีนี้มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่
“ขอให้จับตาภาวะเงินเฟ้อของหลาย ๆ ที่จะประกาศในอีก 2-3 วันนี้ ว่าจะเป็นอย่างไรจะลงมาหรือไม่ และต้องดูว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะขึ้นดอกเบี้ยไปสูงสุดเท่าไหร่ แล้วจะทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับ Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นในปีหน้าด้วย”
ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจของ Emerging Market ที่จะได้รับผลกระทบมีที่ง สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา อียิปต์ ละตินอเมริกา รวมไปถึงบางประเทศของยุโรป จะได้รับผลกระทบจากกรณีของธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยก็ยังต้องติดตามต่อว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ในปีหน้า
นายกอบศักดิ์ มองว่า สำหรับประเทศไทยเองนั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในปีหน้าที่ไม่ดีนัก แต่ก็ยังดีที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ซึ่งช่วยประคับประคองเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้
ท่องเที่ยวพระเอกหลักพยุงเศรษฐกิจ
ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2566 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า หลังเห็นสัญญาณการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่การส่งออกปี 2565 ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับ 7.5% ในปี 2565 ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้า เพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปีก่อน ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนราคาสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง (-0.5) – 0.5% เทียบกับ 4.3% ในปี 2565
การใช้จ่ายรอุปโภค-บริโภค ยังขยายตัว
ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่า ในปี 2566 จะขยายตัว 3% เทียบกับการขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.1% เทียบกับการลดลง 0.2% ในปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 2,489,923 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากกรอบวงเงิน 2,535,682 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการลดลงของการใช้จ่ายเงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท
จับตาการลงทุนเริ่มเจอผลกระทบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ในด้านการลงทุนรวม ในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2565 โดยการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 2.6% เทียบกับ 3.9% ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก
ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากการลดลง 0.7% ในปี 2565 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% จากวงเงิน 612,566 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 รวมถึงแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจด้วย
หวังเงินลงทุนเมกกะโปรเจกต์เข้าระบบ 8.3 หมื่นล้าน
ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจกต์ ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 โดยรวมคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 83,945.12 ล้านบาท คิดเป็น 59.5% ของประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการสำคัญรวมทั้งหมดกว่า 65 โครงการ มีดังนี้